ส่วนของสมาชิก

เหรียญพ่อท่านซัง

เหรียญพ่อท่านซัง

หน้าแรก » กรุพระ » เหรียญพระพุทธ » เหรียญพ่อท่านซัง
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

เหรียญรุ่นแรก ปี 2480 พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง

เกิดประสบการณ์และอภินิหารมากมาย ทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุด จึงเป็นที่หวงแหน ได้ชื่อว่าเป็นเหรียญแจกงานศพ หรือที่เรียกว่า "เหรียญตาย"

25590405_05-1

พระครูอรรถธรรมรส หรือ "พ่อท่านซัง สุวัณโณ" วัดวัวหลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช บริหารคณะสงฆ์สืบต่อมาจนเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยบูรณะถาวรวัตถุต่างๆ อาทิ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน ยังมีสภาพอันเก่าแก่ให้เห็นหลายแห่งในอำเภอร่อนพิบูลย์ ประชาชนพากันมาหาสู่ท่าน เพื่อขอพรให้ท่านรด น้ำมนต์ ขอลูกอมชานหมาก และของที่ท่านแจกให้ ซึ่งเป็นของที่หวงแหนกันมาก ครั้น ปีพ.ศ.2472 หลวงพ่อซัง ชราภาพมากจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นกิตติมศักดิ์ พ้นจากตำแหน่งราชการ รวมเวลาที่ท่านได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอยู่ 13 ปี เมื่อถึงปีพ.ศ.2478 ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ต้นปี ต่อมาโรคได้กำเริบหนัก จนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2478 เวลาประมาณ 10.20 น. ท่านมรณภาพ ลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 84 ปี

"เหรียญพ่อท่านซังรุ่นแรก" สร้างขึ้นเมื่อปี 2480 ซึ่งเหรียญได้สร้างหลังจากที่พ่อท่านซังมรณภาพไปแล้ว 2 ปี บรรดาลูกศิษย์ที่นับถือในตัวของท่านต้องการเหรียญรูปเหมือนไว้เป็นที่ระลึก คณะกรรมการจึงได้ประชุมกันและนิมนต์ให้ "พระครูธรรมธร" วัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งท่านเป็นศิษย์ที่พ่อท่านซังบวชเณรให้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ได้เรียน ส่วนฝ่ายคฤหัสถ์มอบหมายให้ "ท่านขุน" นายอำเภอร่อนพิบูลย์เป็นประธาน โดยตกลงพร้อมใจกันจัดสร้างเหรียญขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อปี 2480 พระครูธรรมธร ได้รับภาระในการหาช่างแกะบล็อกตามรูปถ่ายพร้อมทั้งออกแบบยันต์ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์ที่พ่อท่านซังใช้เขียนผ้ายันต์ลงตะกรุดพิสมร และที่ใช้ทำน้ำมนต์เป็นประจำ ยันต์และพระคาถาสี่ตัวด้านหลังเหรียญนั้นถอดมาจากพระธรรมในพระไตรปิฎก สามารถนำมาใช้ได้ตามปรารถนาพ่อท่านซัง หลังจากที่ช่างได้ปั๊มเหรียญเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงอุดมฤกษ์มงคลมิ่ง พระครูธรรมธรได้จัดพิธีพุทธาภิเษก "เหรียญพ่อท่านซัง" ภายในอุโบสถวัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร นิมนต์พระเถระต่างๆ ที่มีชื่อเสียงเมื่อปี 2480 มาร่วมพิธีแผ่กระแสจิตปลุกเสก พร้อมทั้งอัญเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อซังมาประทับร่วมในพิธีด้วย โดยได้จัดเตรียมอาสนะไว้ให้ท่านด้วย

เมื่อเสร็จพิธีเรียบร้อย พระครูธรรมธรได้นำเหรียญกลับมายังวัดเทพนิมิต (วัวหลุง) และได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้นิมนต์ "พระครูกาชาด" วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นสหธรรมมิกของท่าน ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเสมอ พร้อมทั้งพระครูกาแก้ว วัดหน้าพระบรมธาตุฯ และพระเถรานุเถระชื่อดังในขณะนั้นร่วมพิธีพุทธาภิเษก อย่างพร้อมเพรียงและยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพพ่อท่านซัง คณะกรรมการวัดได้นำรูปเหรียญมาแจก เป็นที่ระลึกแก่ผู้เข้าร่วมพิธีในวันนั้น ปรากฏว่าประชาชนต่างแย่งชิงเหรียญกันจนหมด และไม่พอแจกจ่าย

"เหรียญพ่อท่านซังรุ่นแรก" เกิดประสบการณ์และอภินิหารมากมาย ทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุด จึงเป็นที่หวงแหน ได้ชื่อว่าเป็นเหรียญแจกงานศพ หรือที่เรียกว่า "เหรียญตาย" เนื่องจากสร้างหลังจากที่มรณภาพไปแล้วในวงการถือว่าเป็นเหรียญตาย ที่มีราคาค่านิยมแพงที่สุดในประเทศไทย

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์คม ขัด ลึก

ที่มา: www.aj-ram.com/view/เหรียญรุ่นแรก ปี 2480 พ่อท่านซัง วัดวัวหลุง