ส่วนของสมาชิก

ครบปี ไว้อาลัย "เฮียเธ้า" ครูเซียนพระสมเด็จ พระเบญจภาคี

ครบปี ไว้อาลัย "เฮียเธ้า" ครูเซียนพระสมเด็จ พระเบญจภาคี

หน้าหลัก » ข่าวสารล่าสุด » ครบปี ไว้อาลัย "เฮียเธ้า" ครูเซียนพระสมเด็จ พระเบญจภาคี
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 

วลีเด็ดของเฮียเธ้า ท่าพระจันทร์ "..ใครที่ยังไม่มีของจริงมาส่อง ก็ไม่ควรไปจ้องของปลอม เพราะถ้าเพ่งมองดูเป็นเวลานาน จะทำให้ติดตา เกิดการจดจำเลอะเทอะ อาจทำให้เข้าใจผิดว่า พระปลอม เป็นพระแท้ได้.."

 

อาจารย์เธ้า ท่าพระจันทร์หรือนายวิโรจน์ ใบประเสริฐ เกิดที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2476 สิริรวมอายุ 86 ปี ท่านลาจากวงการไปอย่างเงียบเชียบคนในวงการพระเครื่องไม่มีใครรู้ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ปี 2562 ...ล่วงแล้วครบปี

ท่านเป็นอาจารย์ของเซียนพระรุ่นปัจจุบันหลายคน รวมทั้ง อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดศิลปะวิชาอย่างเข้มข้น จนได้เป็น "เซียนพันธุ์แท้พระเครื่อง คนแรกของไทย"

ประวัติย่อของเฮียเธ้า มีดังนี้

- เริ่มสนใจพระเครื่องตั้งแต่อายุ 16 ปี ในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ.2485 มีผู้ใหญ่ข้างบ้านท่านหนึ่งนำพระเครื่องมาให้ เพื่อติดตัวไว้ให้คุ้มครองจากภัยอันตราย ทำให้เกิดความสนใจและเลื่อมใสศรัทธาในพระเครื่อง

- ในวัยเด็ก ชอบเล่นหมากรุกเดิมพันหารายได้พิเศษ ด้วยครอบครัวมีฐานะยากจน วันหนึ่งคู่ต่อสู้แพ้ ไม่มีเงินจ่าย แต่กลับนำพระเครื่องมาให้ทดแทน จึงนำพระเครื่ององค์นั้นไปให้เซียนพระท่านหนึ่งดู ปรากฏว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ จึงขายได้เงินมา 4,500 บาท ทำให้เกิดความสนใจ เพราะสามารถสร้างรายได้ให้ตนได้

- ต่อมาเรียนวิชาดูพระแท้ จากอาจารย์ลิ และ อาจารย์เซีย จนเกิดความชำนาญในการเช่าซื้อและปล่อยขาย 

- ที่มาของฉายา "ท่าพระจันทร์" เพราะบ้านและร้านเช่าพระซ่อมพระ อยู่ที่ตลาดท่าพระจันทร์

- คิดค้น วิธีการล้างรักและปิดทอง เพื่อเปิดเผยผิวพระสมเด็จที่แท้จริง ด้วยประสบการณ์อู่ซ่อมสีรถ ใช้น้ำยากัดสีรถยนตร์ ทาลงบนผิวขององค์พระ ผิวพระจะเดือด ทำให้รักร้อนพองตัว จากนั้นนำพระที่ร้อน นำแช่ลงในน้ำเย็นจัด น้ำรักจะหดตัวแตกเป็นเกล็ดและล้างออกจากผิวขององค์พระโดยไม่กระทบถึงผิวในสีขาว รอยแยกเป็นเกล็ดของรักจะมีเส้นรักที่จับแน่นบนผิว กลายเป็นพระแตกลายงา ต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ยอดนิยมของผู้นิยมพระสมเด็จวัดระฆัง (เครดิตอ้างอิง - เฟซบุ๊ค อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ)

- เป็นนักเขียนใช้นามปากกาว่า "นิรนาม" ในหนังสือพรีเชียส ของอาจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ

 

หลักในการดูว่าพระสมเด็จ วัดระฆังว่าแท้หรือไม่ ของเฮียเธ้า ก็คือ แม่พิมพ์ ตำหนิที่ไม่อาจลอกเลียนแบบ หรือเปลี่ยนแปลงได้ (เครดิตอ้างอิง นสพ.ข่าวสดออนไลน์)

จุดที่ 1 พระพักตร์พระสมเด็จวัดระฆังของจริงจะต้องหันพระพักตร์ไปทางซ้ายหัวเข่าขวา พระจะจม ส่วนหัวเข่าทางซ้ายจะนูนกว่า จุดนี้เองเป็นสิ่งที่เลียนแบบไม่ได้ เพราะนี่คือสุดยอดศิลปะแม่พิมพ์ ผู้แกะพิมพ์คำนึงถึงสัดส่วนมิติความเป็นจริงจากพระพุทธรูป

จุดที่ 2 นำกระดาษมาทาบจากปลายเกศถึงฐานล่างด้านซ้ายพระ จะสัมผัสกันเป็นเส้นตรงตั้งแต่ปลายเกศมาชนหัวเข่าและยาวมาถึงฐาน ต่างกับด้านขวาพระ หากทาบลงในลักษณะเดียวกันจะไม่เป็นเส้นตรง เนื้อกระดาษจะเกยพื้นที่หัวเข่าด้านซ้าย หากทาบจากปลายเกศมาถึงปลายเข่าก็จะเลยฐานออกไป จุดสังเกตนี้เซียนเธ้าบอกว่า "ไม่เคยเฉลยที่ไหนมาก่อน กว่าจะค้นพบจุดนี้ได้ ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี"

จุดที่ 3 รูปพระพักตร์คล้ายผลมะตูมป้อม มีใบหูทั้งสองข้าง แต่อาจจะกดพิมพ์ติดบ้าง ไม่ติดบ้าง ขึ้นอยู่กับการแกะแม่พิมพ์


จุดที่ 4 เส้นซุ้มครอบระฆัง โดยธรรมชาติของระฆัง 2 ข้างจะเท่ากัน แต่สมเด็จวัดระฆังจะมีจุดที่แตกต่าง คือเส้นโค้งของครอบแก้วด้านซ้ายจากหัวไหล่ถึงหูจะเป็นเส้นตรง ไม่ใช่เส้นโค้ง

จุดที่ 5 เส้นเว้าโค้งของขอบด้านในครอบแก้วด้านบนขวาองค์พระ เนื้อปูนจะยุบลงไปตามธรรมชาติของซุ้มครอบด้านใน เป็นการหดตัวตามธรรมชาติ หลักการนี้สามารถใช้ดูพระเก่าได้ทั้งหมด ถ้าใช้กล้องส่องดูเส้นขอบจะยุบเว้าลงไปเหมือนพรมกำมะหยี่นุ่ม ๆ มีหลายคนพยายามจะเลียนแบบการยุบตัวของเนื้อปูน โดยการใช้มีดไปเซาะให้เกิดหลุมเว้า แต่ก็ไม่เนียน เพราะสันขอบจะคม ไม่นุ่มเนียนเหมือนของเก่า

จุดที่ 6 องค์พระแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังทั้ง 4 แบบ ขนาดหน้าอกทั้งสองข้างจะไม่เท่ากัน สังเกตจากรักแร้ขวาพระถึงหัวไหล่ขวาพระจะมีเนื้อหนากว่าด้านหน้าอกซ้ายพระ

จุดที่ 7 ผ้าอาสนะรองนั่งเป็นเส้นพลิ้วคมบาง ฐานแรกยาวออกด้านขวามือมากกว่า และฐานสิงห์หมายถึงฐานชั้นกลางจะเชิดขึ้นในด้านขวาดูรับกับฐานแรกที่เชิด ขึ้นคล้ายหัวเรือ และฐานชั้นล่างก็จะใหญ่ทึบตัน ดูข้างซ้ายจะใหญ่กว่า มีลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู มีปลายงุ้มจิก ส่วนฐานล่างทางขวาพระจะเป็นสี่เหลี่ยมปลายแหลม มีเส้นแหลมที่มุมฐานล่างเป็นทิวไปชนซุ้มครอบแก้ว

 

"ประหนึ่งเทียนเวียนวับดับไปแล้ว

เคยถางแผ้วกรุยความรู้ครูผู้สอน

ชี้นำทางสร้างศรัทธาเอื้ออาทร

บัดนี้จรเหลือเพียงชื่อที่ลือนาม"

 

อาลัยแด่ คุณวิโรจน์ ใบประเสริฐ เฮียเธ้า ท่าพระจันทร์

2 ก.ค. 2563 ผู้แต่ง อ.ราม วัชรประดิษฐ์