ส่วนของสมาชิก

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์

หน้าแรก » เที่ยววัดทำบุญ » ภาคกลาง » วัดโพธิ์
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

วัดโพธิ์ หรือชื่อทางราชการว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” มีประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดเก่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย

ทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลก ในทะเบียนนานาชาติ

ในด้านของการท่องเที่ยว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นมากถึง 8,155,000 คน

อาณาเขตติดต่อของวัด

ทิศเหนือ ติดกับพระบรมมหาราชวัง มีซอยท้ายวังคั่น
ทิศใต้จรดถนนเศรษฐการ
ทิศตะวันออก จรดถนนถนนสนามไชย
ทิศตะวันตก จรดถนนถนนมหาราช 

ความสำคัญ

เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

สถาปัตยกรรม

  • พระมณฑป(หอไตรจตุรมุข) เป็นสถาปัตยกรรมจตุรมุขเครื่องยอดทรงมงกุฎ ประดับกระเบื้องเคลือบหลากสี ลวดลายงามวิจิตร ภายในมีตู้เก็บพระไตรปิฎก มีศาลารายล้อมพระมณฑปสามด้าน ผนังภายในศาลารายมีภาพจิตรกรรมหลายเรื่อง เช่น กำเนิดรามเกียรติ์ ผนังภายนอกมีศิลาจารึกโคลงสุภาษิตเรียกว่า โคลงโลกนิติ ที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑปทั้งสองข้างมีรูปยักษ์วัดโพธิ์ (ตัวจริง) ที่มีตำนานเล่าว่าไปรบกับยักษ์วัดแจ้ง
  • พระวิหาร มีอยู่ทั้ง 4 ทิศรอบพระมณฑป แต่ละทิศได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากเมืองต่างๆ มาประดิษฐานไว้
    • พระวิหารทิศตะวันออก(ทิศพระโลกนาถ) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธมารวิชัยปางมารวิชัย มุขหลังประดิษฐานพระพุทธโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปยืนสูง 10 เมตร
    • พระวิหารทิศใต้(ทิศปัญญจวัคคีย์) ประดิษฐานพระพุทธชินราชปางปฐมเทศนา
    • พระวิหารทิศตะวันตก(ทิศนาคปรก) ประดิษฐานพระพุทธชินศรีปางนาคปรก
    • พระวิหารทิศเหนือ(ทิศป่าเลไลย์) ประดิษฐานพระพุทธปาลิไลยปางป่าเลไลย์
  • พระวิหารคด ตั้งอยู่มุมกำแพงรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน
    • ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อ พระวิหารคดพระฉาย (คดเณรเต่อ)
    • ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อ พระวิหารคดพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน
    • ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ชื่อพระวิหารคดหน้าแดง
    • ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อพระวิหารคดสมอ (คดกรมหลวงชุมพร)
  • พระระเบียงมี 2 ชั้นรอบพระอุโบสถ ทั้งสองชั้นเชื่อมต่อด้วยพระวิหารทิศ อยู่รอบพระอุโบสถทั้งสี่ทิศ พระระเบียงชั้นในประดิษฐานพระพุทธรูป 150 องค์ พระระเบียงชั้นนอกประดิษฐานพระพุทธรูป 244 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 1  โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ
  • พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล มีสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์แบบจีน มีตุ๊กตาหินจีนประจำประตูละคู่ ลักษณะของเจดีย์เป็นศิลปะแบบย่อมุมไม้สิบสอง สูง 42 เมตร ประดับกระเบื้องเคลือบหลากสี แบ่งได้ดังนี้
    • ประจำรัชกาลที่ 1 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว
    • ประจำรัชกาลที่ 2 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว
    • ประจำรัชกาลที่ 3 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง
    • ประจำรัชกาลที่ 4 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาบ หรือน้ำเงินเข้ม

ที่อยู่

เลขที่ 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

เวลาเปิดทำการ

8.30 - 18.30 น.

พิกัด GPS (Google Map)

ละติจูด: 13.7466516| ลองติจูด: 100.4910405

ค่าเข้าชม

คนไทย ฟรี / ชาวต่างชาติ50 บาท

การเดินทาง

รถยนต์ส่วนตัว
ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ใช้ทางออก 2-09 สู่ถนนยมราช ถนนหลานหลวง ถนนพิษณุโลก จากนั้นวิ่งต่อไปบนถนนหลานหลวง เลี้ยวซ้ายที่แยกผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงวิ่งต่อไปบนถนนราชดำเนินกลาง จากนั้นเลี้ยวซ้ายสู่ถนนราชดำเนินใน ผ่านหน้าศาลหลักเมืองแล้ววิ่งตรงต่อไปเข้าสู่ถนนสนามไชย จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ซอยท้ายวัง วัดจะอยู่ด้านซ้าย

ถ้ามาจากฝั่งตะวันตก ใช้ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า หลังข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าชิดขวาเพื่อเข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ผ่านหน้าศาลหลักเมืองแล้ววิ่งตรงต่อไปเข้าสู่ถนนสนามไชย จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ซอยท้ายวัง วัดจะอยู่ด้านซ้าย

รถโดยสารสาธารณะ
รถประจำทางที่ผ่านวัดมีดังนี้ สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 44, 47, 48, 53, 82
รถประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.1, ปอ.507, ปอ.507, ปอ.12, ปอ.44, ปอ.48
เรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าช้าง ท่าเตียน หรือท่าปากคลองตลาด ก็ได้

คำแนะนำ

ไม่ควรใช้แฟลช ในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนภายในอาคาร บางอาคารห้ามถ่ายภาพ ควรสังเกตป้าย

สิ่งที่น่าสนใจควรแวะชมและถ่ายรูป

  • วิหารพระพุทธไสยาส ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ มีประดับมุกภาพมงคล 108 ประการที่พระบาท
  • พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ตั้งเรียงเคียงกัน 4 เจดีย์ เป็นเจดีย์หุ้มด้วยกระเบื้องเคลือบแตกต่างกันด้วยสีทั้ง 4 องค์ หากมาชมยามค่ำคืน จะมีการส่องไฟ สวยงามมาก
  • ยักษ์วัดโพธิ์ หลายคนอาจจะเข้าใจว่ายักษ์วัดโพธิ์เป็นยักษ์จีนที่อยู่ประจำซุ้มประตูกำแพงวัดโพธิ์ จริงๆ แล้วยักษ์วัดโพธิ์ตั้งแสดงอยู่ในกรอบมีบานประตูปิดทับอยู่
  • นวดแผนไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าที่วัดโพธิ์เป็นแหล่งรวบรวมการแพทย์แผนโบราณ ด้านนอกอาคารนวดมีรูปปั้นฤาษีดัดตนท่าทางต่างๆ มากมาย

อิ่มบุญอิ่มท้อง

  • Farm to Tableร้านอาหารเพื่อสุขภาพ บริการผักสดจากไร่ อยู่ใกล้โรงเรียนราชินี
    เมนูเด็ด: สลัดผักออแกนิกส์ แซนวิชไส้เห็ด ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น รายละเอียด...
  • Pastale Homemade Cafeร้านอาหารจานเดียว เมนูอาหารสไตล์ยุโรป ตกแต่งเรียบง่ายแต่น่ารัก น่านั่ง อาหารอร่อยทั้งคาวและหวาน
    เมนูเด็ด:พาสต้าสไปซี่ใส่ไข่ปลา สลัดแซลมอนรมควัน ลาเต้ร้อน รายละเอียด...
  • โรตีมะตะบะร้านโรตีชื่อดังบนถนนพระอาทิตย์ เมนูอาหารอินเดียมีอย่างหลากหลายเลือกชิมได้ตั้งแต่อาหารคาว ปิดท้ายด้วยของหวาน
    เมนูเด็ด:มะตะไก่ มะตะเนื้อ โรตี ข้าวหมกไก่ รายละเอียด...

สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง

  • ศาลหลักเมืองเดินจากวัดไปแค่ 1 กิโลเมตร ไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรุงเทพฯ กันได้
  • วัดพระศรีรัตนมหาศาสดาราม (วัดพระแก้ว) อยู่ติดกับศาลหลักเมือง แค่ถนนสนามไชยคั่น
  • ท่ามหาราชสามารถเดินไปจากวัดได้ ระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร ตอนนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งช้อปปิ้งสำหรับวัยรุ่น วัยทำงาน มีร้านอาหารน่านั่ง วิวแม่น้ำเจ้าพระยา สวยงาม