ส่วนของสมาชิก

กรุพระสมเด็จ วัดบางขุนพรหม

กรุพระสมเด็จ วัดบางขุนพรหม

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » กรุพระสมเด็จ วัดบางขุนพรหม
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

กรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม

"เป็นที่ทราบกันว่าเป็นพระที่บรรจุในกรุ ดังนั้นเมื่อผ่านกาลเวลายาวนานจึงมักจะเกิดคราบกรุ"

25590422_05-1

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เป็นที่ทราบกันว่าเป็นพระที่บรรจุในกรุ ดังนั้นเมื่อผ่านกาลเวลายาวนานจึงมักจะเกิดคราบกรุ บางองค์จะมีคราบกรุหนามากจนองค์พระทั้งองค์ บางองค์ก็จะมีคราบกรุน้อยจนกระทั่งเกือบไม่ปรากฏคราบกรุเลย บางองค์มีคราบกรุจับหนาและเกาะติดกันเป็นสององค์หรือสามองค์ หรือกระทั่งมีบางองค์ยึดติดกันเป็นก้อนกลมเหมือนลูกตะกร้อขนาดใหญ่ ต้องใช้กรรมวิธีที่ยากเย็นที่สุดค่อยๆ แยกพระสมเด็จฯ ให้ออกจากกันโดยไม่ทำให้องค์พระชำรุดเสียหาย คราบกรุของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม แบ่งออกตามสภาพใหญ่ๆ คือ คราบกรุสีน้ำตาล คราบกรุฟองเต้าหู้ คราบกรุเป็นเม็ดหรือเม็ดทราย และคราบกรุเป็นคราบดินในกรุพระเจดีย์

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมส่วนใหญ่จะบรรจุลงในกรุพระเจดีย์วัดใหม่อมตรส ซึ่งในสมัยโบราณการสร้างพระเจดีย์ยังคงใช้ระบบโบราณ คือก่อด้วยอิฐดินเผาโดยรอบ ภายในใช้ไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแกร่งค้ำยันกำแพงภายในให้แข็งแรง เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายนอกฉาบปูนทาสีและเปิดช่องระบายอากาศไว้เป็นช่องเล็กๆ เพื่อป้องกันมิให้ภายในพระเจดีย์มีความร้อนจัด ทำให้อากาศขยายตัว ขยายตัวจนดันให้กำแพงพระเจดีย์เกิดร้าวและแตกได้ พระที่บรรจุลงส่วนใหญ่จะอยู่ด้านล่างใจกลางพระเจดีย์ บางองค์ก็จะคงค้างอยู่ตามบริเวณไม้ค้ำภายในพระเจดีย์ ในเวลากลางวัน พระเจดีย์จะตากแดดทั้งวันความร้อนแผดเผาและอบ ตกเวลากลางคืนอากาศจะเริ่มเย็นลงและเย็นจัดในเวลาย่ำรุ่งด้วยความร้อนที่อบอ้าวและความเย็นจัดนี่เอง เป็นเหตุให้พระสมเด็จฯ เกิดปฏิกิริยาภายในกรุพระเจดีย์ เวลาร้อนอบอ้าวองค์พระก็จะหดตัวและมีสภาพกรอบ เวลาอากาศเย็นลงจะสร้างความชื้นภายในกรุพระเจดีย์และเพราะภายในกรุพระเจดีย์ไม่มีอากาศถ่ายเท อากาศจะนิ่งอบอ้าว แคลเซียมหรือหินปูนภายในอากาศจะผสมกับความชื้นภายในกรุพระเจดีย์กลายเป็นหินปูนจับอยู่บนองค์พระ ความหดตัวเพราะความร้อนนี้เอง ทำให้น้ำมันตังอิ๊วที่ผสมอยู่ในมวลสารที่นำมา สร้างองค์พระ กลั่นเป็นเม็ดน้ำมันสีน้ำตาล มากบ้างน้อยบ้างตามธรรมชาติ เมื่อผสมกับหินปูนในอากาศกลายเป็นขี้กรุสีน้ำตาลและแข็งตัวกับหินปูนเราเรียกว่า “คราบกรุสีน้ำตาล” หรือ “ขี้กรุน้ำมันตังอิ๊ว” อันเป็นเอกลักษณ์ของขี้กรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่สำคัญประการหนึ่ง จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม มักจะงอกออกมาจากภายในองค์พระ ลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ น้อยบ้างมากบ้าง พระสมเด็จฯ บางองค์มีขี้กรุน้ำมันตังอิ๊วงอกออกมาเต็มทั้งองค์จนมองไม่เห็นองค์พระเลย คราบสีน้ำตาลนี้จะมีคุณสมบัติที่แข็งเหมือนหินแต่มีลักษณะที่เหนียว เวลากรอขี้กรุสีน้ำตาลออกจะเห็นเนื้อขี้กรุสีน้ำตาลฝังอยู่ภายในเนื้อเรียกว่า “ขูดไม่หมด” เพราะฉะนั้น พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่มีความลึกดีเรียบร้อยไม่มีขี้กรุ แต่จะเห็นผิวบางๆ เป็นสีน้ำตาลเข้มฝังอยู่บนผิวขององค์พระ ย่อมหมายถึงองค์พระมีการปอกผิวขี้กรุออกให้ดูเรียบร้อย ในสมัยโบราณพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม มักจะมีการโกนหรือขูดขี้กรุออกเพื่อให้ดูลึกและสวยงาม แต่ในปัจจุบันนักนิยมพระจะไม่นิยมตบแต่งพระเท่าที่ควร มักจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

“คราบกรุฟองเต้าหู้” เป็นคราบกรุอีกอย่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ฟองเต้าหู้มีครบเต็มทั้งองค์พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม บางองค์จะให้ช่างซ่อมพระทำการลอกผิวกรุฟองเต้าหู้ออกทั้งองค์เพื่อให้องค์พระดูลึกและคมชัดยิ่งขึ้น ก็อีกเช่นกันวงการนักนิยมพระก็จะถือว่าเป็นพระที่ตบแต่งเช่นกัน คราบฟองเต้าหู้นี้ เกิดจากคราบหินปูนในอากาศตกลงมาห่อหุ้มบนองค์พระและจับตัวแข็งกรอบเป็นแผ่นคราบฟองเต้าหู้ บางองค์ก็มีเป็นคราบทั้งองค์ บางองค์จะมีเป็นบางแห่งหรือผสมกับขี้กรุสีน้ำตาล หรือบางองค์ก็จะผสมไปเสียหมดทุกจุดเช่นมีบางจุดเป็นฟองเต้าหู้ หรือบางจุดเป็นดินขี้กรุเป็นต้น

“คราบกรุเป็นเม็ด” คราบกรุบางองค์เป็นเม็ดเล็กๆ เหมือนเม็ดทรายแต่บางชนิดก็เป็นเม็ดโต ซึ่งเกิดจากฟองอากาศ หินปูนที่ตกลงบนผิวพระและจับตัวกับหยดน้ำ เมื่อแข็งตัวจะแข็งเป็นเม็ดทราย ถ้า “คราบกรุเม็ดทราย”ที่สม่ำเสมอและเป็นเม็ดเล็กๆ จะดูสวยงามมากสภาพของขี้กรุเป็นเม็ดจะแข็งและมักจะไม่ปรากฏมีการขูดตบแต่งใดๆ

“คราบดิน” คือจะเป็นคราบดินภายในใต้กรุพระเจดีย์เมื่อผสมกับคราบหินปูนในอากาศที่ตกลง ผสมกับดินจับบนพระสมเด็จฯ จะมีลักษณะค่อนข้างแข็งและมีสีดินจับอยู่ทั้งองค์หรือเกือบทั้งองค์ ดินที่ผสมกับหินปูนจะมีเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่เหมือนดินทั่วไป อันเป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม

การจัดจำแนกพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ออกเป็นพระกรุเก่า และพระกรุใหม่ นั้น สืบเนื่องมาจาก
เมื่อครั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และบรรจุกรุพระเจดีย์เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ประชาชนพลเมืองได้ทราบข่าวและบอกเล่าสืบต่อๆ กันมาว่า ที่พระเจดีย์ใหญ่กลางวัดบางขุนพรหมมีพระสมเด็จซึ่งสร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ บรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ คือ “อหิวาตกโรค” สมัยก่อนเรียกว่า “ห่าใหญ่” ระบาดทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ศพกองเป็นภูเขาเลากาอยู่ที่วัดสระเกศ เผาตลอดรุ่งยันค่ำไม่หมดสิ้น จนเรียกป่าช้าวัดสระเกศว่า "ป่าช้าผีดิบ" เล่ากันว่าผีดุมาก และด้วยบารมีในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้ไปเข้าฝันชาวบ้านว่า ใครที่มีพระสมเด็จฯ ของท่านให้อาราธนาเอาแช่ลงทำน้ำมนต์ดื่มกินจะสามารถป้องกันและรักษาโรคห่าได้ หลังจากเหตุการณ์ในครั้งกระนั้นผ่านพ้นไป ปรากฏว่ามีผู้คนต่างพากันแสวงหาพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามทวีมากยิ่งขึ้น จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์หนึ่งเป็นเงินเป็นทองขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อต่างคนต่างแสวงหาพระสมเด็จวัดระฆังฯ กัน และก็หาได้ยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ พอทราบข่าวว่าพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีบรรจุอยู่ในพระเจดีย์ที่วัดบางขุนพรหมเช่นกัน ก็อยากได้มาบูชาแต่จนด้วยปัญญา เพราะถูกบรรจุอยู่ในพระเจดีย์แน่นหนา จะทำอย่างไรล่ะจึงจะได้บ้าง เกิดมีคนสมองใสเอาก้อนดินเหนียวพอหมาดๆ ผูกติดกับปลายเชือกแล้วหย่อนลงไปตามช่องลมของพระเจดีย์ให้ตกไปยังก้นกรุที่บรรจุพระสมเด็จฯ เอาไว้ คนโชคดีพอสาวเชือกขึ้นมาพระสมเด็จฯ ก็จะติดก้อนดินขึ้นมาด้วย เขาเรียกกันว่า "การตกพระสมเด็จฯ" ครั้งแรกๆ ทางวัดบางขุนพรหมยังไม่ได้ห้ามไม่ได้หวงแต่อย่างใด ใครใคร่ตกก็ตกกันไป มีการทำบุญให้วัดตามแต่ศรัทธา แต่นานวันเข้าข่าวการตกพระสมเด็จฯ แพร่กระจายออกไป ก็ยิ่งมีผู้คนเดินทางมากันมากยิ่งขึ้น ถึงกับจุดตะเกียงเจ้าพายุและมีพ่อค้าแม่ขายมาตั้งหาบขายอาหารเป็นงานเอิกเกริกจนมากเกินไป ทางวัดจึงต้องจัดการห้ามเสีย และจัดการทำอาณาเขตห้ามคนเข้ามาตกอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นเวลาที่ปล่อยให้ล่วงเลยมาหลายต่อหลายปี และไม่ทราบว่าพระสมเด็จฯ ที่ชาวบ้านเขาตกกันขึ้นไปนั้นมีจำนวนมากมายสักเท่าไหร่ เราเรียกพระสมเด็จฯ ที่ได้จากการตกในครั้งนั้นว่า "พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม กรุเก่า" ซึ่งจะมีลักษณะของขี้กรุเป็นฟองเต้าหู้หรือมีฝ้าบางๆ เท่านั้น จะไม่ปรากฏขี้กรุครอบคลุมหนาเตอะเต็มไปหมด หรือพูดตามภาษาชาวบ้านก็ว่า ผิวพระจะดูเกลี้ยงเกลา

จนเมื่อมาถึงก่อนปี พ.ศ.2500 ปรากฏว่ามีคนร้ายลักลอบขุดกรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ได้พระสมเด็จฯ ไปเป็นอันมาก ทางวัดพิจารณาเห็นว่า หากขืนปล่อยให้เป็นอยู่อย่างนี้สืบไป พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมคงหมดไปจากกรุเป็นแน่แท้ จึงดำเนินการเปิดกรุอย่างเป็นทางการ โดยเรียนเชิญ จอมพล ประภาส จารุเสถียร เป็นประธาน ปรากฏว่าได้พระสมเด็จฯ จำนวนมาก มีทั้งที่สมบูรณ์ไม่หักไม่ชำรุดจำนวนหนึ่ง และอีกจำนวนหนึ่งเป็นพระที่หักและชำรุด จากนั้นทางวัดได้นำพระสมเด็จฯ ใส่ซองปิดผนึกนำออกให้บูชา เพียงองค์ละหนึ่งพันกว่าบาทเท่านั้น พระที่ได้จากการเปิดกรุนี้เรียกกันว่า "พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม กรุใหม่" ซึ่งจะมีลักษณะพิเศษคือ จะปรากฏขี้กรุเป็นสีน้ำตาลแก่ และมีคราบดินเกาะครอบคลุมองค์พระอยู่ทั่วไป ขี้กรุสีน้ำตาลนั้นสันนิษฐานว่า เกิดจากการที่ปี พ.ศ.2485 ซึ่งน้ำท่วมใหญ่ และท่วมกรุพระเจดีย์วัดบางขุนพรหมเป็นระยะเวลานานมาก ทำให้พระสมเด็จฯ ในกรุต้องแช่น้ำผสมผสานกับดินเหนียวที่ตกหล่นอยู่ในกรุตลอดช่วงระยะเวลาที่มีการตกพระสมเด็จฯ จึงเป็นเหตุให้เกิดขี้กรุสีน้ำตาล อีกทั้งเกิดจาก “คราบกรุสีน้ำตาล” หรือ “ขี้กรุน้ำมันตังอิ๊ว” ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เคล็ดลับสำคัญอีกประการหนึ่งอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม กรุใหม่ คือ เนื้อในขององค์พระมักจะปรากฏเป็นโพรงอากาศภายในองค์พระ บางองค์เมื่อนำไปเอ็กซเรย์จะดูเหมือนมีรอยอุดรอยซ่อมทั่วทั้งองค์

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/กรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม