ส่วนของสมาชิก

รูปเหมือนหลวงพ่อเงินปี 15

รูปเหมือนหลวงพ่อเงินปี 15

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » รูปเหมือนหลวงพ่อเงินปี 15
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

รูปเหมือนหลวงพ่อเงินปี 15

"ถ้าจะถามว่านอกจากรูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อเงิน แล้วพระหลวงพ่อเงินรุ่นไหนที่แพงที่สุด ต้องตอบว่า"รุ่นปี 15" โดยเฉพาะที่ออกวัดบางคลาน"

ถ้าจะถามว่านอกจากรูปหล่อรุ่นแรก หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน แล้วพระหลวงพ่อเงินรุ่นไหนที่แพงที่สุด ต้องตอบว่า"รุ่นปี"15" โดยเฉพาะที่ออกวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร พิมพ์นิยมแตะห้าหกแสนเข้าไปแล้ว ไม่นับเหรียญจอบ ซึ่งสนนราคาเป็นแสน ทั้งๆ ที่เพิ่งออกเมื่อปี พ.ศ.2515 นี่เอง วันนี้เลยน่าจะลองคุยกันดูหน่อย จากที่เรียกติดปากกันว่า"วัดบางคลาน" นั้น ชื่อเต็มคือ "วัดหิรัญญาราม" และแต่เดิมมีชื่อว่า "วัดวังตะโก" ตั้งอยู่ตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร

สำหรับ"รุ่นปี"15" นี้ พระครูพิบูลธรรมเวท หรือ หลวงพ่อเปรื่อง เจ้าอาวาส ต้องการหาปัจจัยมาบูรณะพระอุโบสถ มี สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พลตำรวจเอกสง่า กิตติขจร รมช.ต่างประเทศ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีพิธีพุทธาภิเษก 2 ครั้ง ครั้งแรก : ที่วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2514 ส่วนครั้งที่สอง : ที่วัดบางคลาน วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2515 ด้วยเหตุนี้ โค้ดใต้ฐานรูปเหมือนจึงมีเลขไทยปั๊มเป็น "๑๔-๑๕" อยู่ในวงกลม ซึ่งติดเต็มบ้างไม่เต็มบ้าง หมายถึงคาบเกี่ยวกันสองปี และไม่จำเป็นต้องมีโค้ดทุกองค์

รูปเหมือนปี"15 นี้ รูปทรงทำเหมือน "รูปหล่อโบราณรุ่นแรก พิมพ์นิยม" แต่เป็นการใช้เครื่องจักรปั๊ม ในองค์กลวง บรรจุเม็ดกริ่ง ปิดก้นด้วยทองเหลือง แบ่งเป็น เนื้ออัลปาก้า สร้าง 1,000 องค์ ตอนออกราคาองค์ละ 100 บาท และเนื้อทองเหลือง สร้าง 1,000 องค์เท่ากัน ราคาองค์ละ 50 บาท แบ่งเป็น พิมพ์คอแอล, มือมีจุด, มือเลขแปด และพิมพ์นับแบงก์

พิมพ์ที่นิยมที่สุดคือ "พิมพ์คอแอล" ซึ่งมีทั้งเนื้ออัลปาก้าและเนื้อทองเหลือง ที่คอด้านขวาของหลวงพ่อมีเส้นลากลงมาเป็นตัวแอลตัวใหญ่ ตรงปลายคางมีเส้นเล็กๆ เป็นฝอยๆ เชื่อมกับเนื้อคอ เนื่องจากเป็นพิมพ์ปั๊มจึงมีการแต่งรอยตะเข็บข้างด้วยตะไบให้รอยหายไป และในร่องระหว่างสังฆาฏิกับชายจีวรซ้ายมือจะมีรอยแต่งด้วยตะไบในซอก มองเห็นเส้นริ้วจีวรด้านขวาองค์พระสามเส้น และด้านที่พันแขนซ้ายเจ็ดเส้น

จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผิวของพระจะตึงแน่น คมชัด มีเส้นขีดตรงหัวตาซ้าย ส่วนในหูจะมีส่วนเกิน(ตัดเกิน) ออกมาจากรูปหู ใต้ฐานหากเป็นเนื้ออัลปาก้าใช้มือลูบดูจะแอ่นเป็นท้องกระทะเล็กน้อย หากเป็นทองเหลืองจะตึงไม่แอ่น และมีเส้นรอยปั๊มตัดใต้ฐานเป็นวงๆ เรียกกันว่า "วงเดือน"

ส่วนด้านหลังในทุกพิมพ์จะเหมือนกัน หลังใบหูมีเส้นเรียวคมชัดวิ่งขนานกับริมหู สระ "อิ" เหนือคำว่า เงิน ที่ปั๊มลงบนสังฆาฏิด้านหลัง มีลักษณะเหมือนหัวลูกศรปลายอยู่ล่าง หากวัดขนาดคร่าวๆ รูปเหมือนปี"15 นี้ จะมีฐานกว้างประมาณ 1.6-1.7 ซ.ม. ความสูงจากฐานถึงยอดพระเศียรประมาณ 2.4-2.5 ซ.ม. ส่วนทองเหลืองกลมที่อุดก้นฐาน จะเรียบเสมอกับฐาน และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.4-4.5 ซ.ม.

จุดสำคัญที่ "ชี้เป็นชี้ตาย" อีกประการหนึ่งก็คือ ช่วงรอยต่อระหว่างองค์พระกับฐานเขียงด้านหลัง ให้ใช้กล้องส่องไล่ดู บางส่วนจะเป็นรอยเสี้ยนเล็กๆ คล้ายๆ กับรอยครูดของเครื่องปั๊ม เป็นแผงเล็กๆ วิ่งเชื่อมระหว่างก้นองค์พระกับฐานที่ท่านนั่งพอดี เนื้อที่หมด แล้วค่อยคุยกันเรื่องพิมพ์อื่นในฉบับหน้าแล้วกันครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/รูปเหมือนหลวงพ่อเงินปี 15