ส่วนของสมาชิก

พระกริ่งใหญ่

พระกริ่งใหญ่

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระกริ่งใหญ่
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระกริ่งใหญ่

"ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดพระกริ่งชั้นนำอันดับหนึ่งของพระกริ่งนอกทั้งหมด และหาดูได้ยากมาก มีถิ่นกำเนิดอยู่ ประเทศจีน"

25590422_02-1

“พระกริ่งใหญ่” ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดพระกริ่งชั้นนำอันดับหนึ่งของพระกริ่งนอกทั้งหมด และหาดูได้ยากมาก มีถิ่นกำเนิดอยู่ ณ มณฑลซัวไซ ประเทศจีน ในราวสมัย "ราชวงศ์ถัง" แรกเริ่มเดิมทีเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน ต่อมาขยายไปยังเขมร และเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ถ้านับอายุจนถึงปัจจุบันก็คงยืนยาวกว่าพันปีขึ้นไปทีเดียว

พระกริ่งใหญ่ เป็นพระเนื้อโลหะสัมฤทธิ์ สีทองดอกบวบ ผิวสนิมหุ้มออกเป็นสีมันเทศหรือน้ำตาลแก่ ก้นปิดเป็นแอ่งแบบกระทะ ด้วยเนื้อโลหะที่ค่อนข้างแก่ทองเหลือง เขย่าแล้วจะเกิดเสียงดังกังวาน แต่บางองค์ก้นกลวงโดยไม่ปิดก็มี ใช้กรรมวิธีการหล่อแบบลอยองค์ สร้างเป็นรูปสมมติแทนองค์ "พระไภษัชคุรุ" ในลัทธิมหายาน โดยใช้แม่พิมพ์แบบ "พิมพ์ประกับ" หรือ "พิมพ์ประกบ" คือมีแม่พิมพ์ 2 ชิ้นเป็นพิมพ์ประกบด้านหน้าและด้านหลัง ดังนั้น จึงปรากฏตำหนิเป็น “รอยตะเข็บ” ที่ด้านข้างขององค์พระทุกองค์ จะมีมากน้อยต่างกันไป และจากพุทธลักษณะที่ใหญ่อวบขององค์พระ จึงให้ชื่อพระกริ่งนี้ว่า "พระกริ่งใหญ่" เมื่อพิจารณาที่พระพักตร์หรือพระเนตรแล้ว จะสามารถชี้ชัดได้เลยว่าเป็นศิลปะที่เกิดจากสกุลช่างจีนบริสุทธิ์จริงๆ

"พระกริ่งใหญ่" มีพุทธลักษณะที่สง่า งดงาม แลดูอิ่มเอิบ องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานกลีบบัวซ้อน 2 ชั้น ชั้นละ 7 กลีบ พระหัตถ์ขวาวางพาดบนพระเพลา พระหัตถ์ซ้ายทรงวชิราวุธ พระเศียรค่อนข้างใหญ่ ด้านหลังแบนลาดกว่าด้านหน้ามาก พระเกศเป็นแบบมุ่นเมาลี 3 ชั้น ด้านหน้าระหว่างพระเมาลีชั้นล่างสุดและชั้นที่ 2 ประดับแซมด้วยรูป “พระจันทร์ครึ่งซีก” เม็ดพระเกศเป็นตุ่มนูน เว้นช่องอย่างสม่ำเสมอ แสดงถึงความละเอียดประณีตในการสร้าง มีทั้งหมด 14 เม็ด ไม่มีซ้ำหรือแซม อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่ง กรอบไรพระเกศายกสูงกว่าพระนลาฏมากเป็นพิเศษ พระเนตรตอกเป็นเส้นลึก เฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ที่เรียกว่า "ตาจีน" พระนาสิกโด่งเป็นสัน ตรงปลายขยายบานออก พระโอษฐ์เป็นเส้นโค้ง ด้านบนกว้างกว่าด้านล่าง มุมพระโอษฐ์ทั้งสองตอกลึกลงไป วงพระพักตร์อิ่มอวบอูม ลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมมน พระหนุจะเห็นอยู่ในทีไม่ปรากฏเด่นชัด พระกรรณข้างขวาสั้นกว่าข้างซ้ายและไม่ติดพระอังสา ส่วนพระกรรณด้านซ้ายจรดพระอังสาพอดี พระอังสาทั้ง 2 ข้างลาดมนกลมกลืนไม่มีแง่มุมใดๆ เลย พระอุระอวบอูมและวาดเข้าหาพระกัจฉะ ฐานผ้าทิพย์ด้านหน้าพระเพลาแบนราบ และดูพลิ้วอยู่ในที เส้นชายจีวรและสังฆาฏิตลอดจนเส้นอาสนะเหนือฐานบัวด้านหน้า เป็น “เม็ดไข่ปลา”นูนกลมละเอียดงดงาม สัณฐานบัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบ “บัวจีน” เม็ดบัวเป็นตุ่มกลมนูน และร่องบัวทั้งสองเป็นร่องลึก

เมื่อมีโอกาสได้พินิจพิจารณาพุทธลักษณะของ "พระกริ่งใหญ่" แล้ว จะเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบเยือกเย็น ให้แรงบันดาลใจอันเปี่ยมสุขได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาจจะสืบเนื่องจากความยิ่งใหญ่ของพระกริ่งใหญ่นี้เอง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงจำลองแบบอย่างการจัดสร้างพระกริ่งมาจากพระกริ่งใหญ่ ทั้งสิ้น จึงถือได้ว่า "พระกริ่งใหญ่" เป็นต้นแบบในการสร้าง “พระกริ่ง” ในสยามประเทศเลยทีเดียว

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระกริ่งใหญ่