ส่วนของสมาชิก

พระซุ้มนครโกษา

พระซุ้มนครโกษา

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระซุ้มนครโกษา
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระซุ้มนครโกษา จังหวัดลพบุรี

"พระซุ้มนครโกษา นับเป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีพุทธลักษณะงดงาม และเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง"

25590420_02-1

เมืองลพบุรี เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่และมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคปัจจุบัน จากหลักฐานทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น อาทิ พระปรางค์สามยอด ศิลปกรรมชิ้นเอกนั้น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.1800 จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองลพบุรีก็คงความเป็นเมืองที่สำคัญและเป็นหัวเมืองที่อยู่ในเขตราชธานี สถาปัตยกรรมและพระเครื่องต่างๆ ของลพบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นศิลปะแบบขอม แต่มีฝีมือช่างอู่ทองและอยุธยาอยู่บ้าง พระเครื่องส่วนมากจะเป็นพระเนื้อชิน ที่เป็นเนื้อดินและเนื้อสัมฤทธิ์มีน้อยมาก มีอาทิ พระร่วงหลังลายผ้า พระหูยาน พระนาคปรกวัดปืน พระหลวงพ่อแขก ฯลฯ ซึ่งล้วนมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องทั้งสิ้น พระซุ้มนครโกษา ก็เป็นหนึ่งในพระกรุเก่าแก่ที่นิยมเล่นหาเช่นกัน

พระซุ้มนครโกษา แตกกรุเป็นครั้งแรกที่วัดนครโกษา ซึ่งเป็นวัดร้างตั้งอยู่ใกล้ศาลพระกาฬ จึงขนานนามองค์พระตามชื่อวัดว่าพระนครโกษา แต่บางคนเรียกว่า พระซุ้มนครโกษา เนื่องด้วยองค์พระประธานประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว และนิยมเรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะเป็นพระเนื้อชินเงิน มีทั้งสนิมปรอทและสนิมดำหรือสนิมตีนกา ขนาดองค์พระมีความกว้างจากฐานประมาณ 2 ซม. และสูง 3.5 ซม. องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้ว เหนืออาสนะฐานบัวแบบฐานสูง ที่น่าสังเกตคือ สถิตอยู่ในซุ้มลึก

พุทธศิลปะของพระซุ้มนครโกษาเป็นแบบเดียวกับพระเขมรขนนก กรุย่านสำปะซิว จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีพุทธศิลปะเหมือนพระสมัยลพบุรีที่ขุดได้ที่เขมร แต่คนละเนื้อกันเท่านั้น จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยลพบุรีเช่นกัน อีกทั้งวัดนครโกษาก็เป็นวัดที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราชเป็นผู้สร้าง เข้าใจว่าเดิมบริเวณนี้น่าจะเป็นเทวสถานของขอมในสมัยลพบุรี เนื่องด้วยมีเนินอิฐสูงใหญ่มากและมีพระปรางค์แบบลพบุรีประมาณอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 (ประมาณ พ.ศ.1700) อยู่ด้านหน้า บนเนินอิฐมีซากปรักหักพังของพระวิหาร พระเจดีย์ และมีพระพุทธรูปปั้นชำรุดของสมัยอยุธยา

3

ต่อมามีการแตกกรุอีกครั้งที่ในบริเวณโรงเรียนเทคนิคลพบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ วัดนครโกษา เนื่องด้วยทางโรงเรียนจะทำการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ เมื่อช่างก่อสร้างขุดหลุมเพื่อเริ่มการก่อสร้าง สันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนโรงเรียนเทคนิคลพบุรีน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของวัดนครโกษา เพราะมีการพบซากอิฐเนินดินจมอยู่หลายแห่งซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสถูปเจดีย์ของวัด แต่จำนวนพระที่พบน้อยมาก พระซุ้มนครโกษา นับเป็นพระกรุเก่าแก่ที่มีพุทธลักษณะงดงาม และเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ พระซุ้มนครโกษาแตกกรุครั้งแรกที่วัดนครโกษา

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระซุ้มนครโกษา จังหวัดลพบุรี