ส่วนของสมาชิก

พระผงสุพรรณ

พระผงสุพรรณ

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระผงสุพรรณ
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระผงสุพรรณ พระยอดนิยมเมืองสุพรรณ

"จังหวัด ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี พระยอดนิยมของประเทศไทย"

25590423_01-1

พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พระเครื่องอันดับหนึ่งของจังหวัด ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี พระยอดนิยมของประเทศไทย

อันว่า “พระผงสุพรรณ” นี้ จากจารึกลานทองได้กล่าวถึงเนื้อมวลสารไว้ว่ามี 2 เนื้อ คือ เนื้อดินเผาและเนื้อชิน “พระเนื้อดินเผา” จะเป็นส่วนผสมของดิน ว่าน และเกสรดอกไม้ต่างๆ แล้วเข้าเตาเผาตามแบบกรรมวิธีการสร้างพระพิมพ์สมัยโบราณ ส่วน “พระเนื้อชิน” หรือที่รู้จักกันในนาม “พระผงสุพรรณยอดโถ” จะสร้างจากแร่ธาตุและโลหะต่างๆ

พระผงสุพรรณ ที่นับเป็นพระยอดนิยมจะเป็นพระเนื้อดินเผา ซึ่งเป็นดินของ จ.สุพรรณบุรีที่ค่อนข้างละเอียดเป็นมวลสารหลัก แล้วนำมาผ่านการกรอง หมัก และนวดอย่างละเอียด ผสมกับว่านและเกสรดอกไม้มงคล โดยวิธีการนำหัวว่านมาคั้นเอาแต่น้ำมาผสมเรียกว่า “แก่ว่าน” ฉะนั้น เมื่อผ่านกรรมวิธีการเผาผิวขององค์พระจึงไม่เป็นโพรงจากการย่อยสลายของเนื้อว่าน เนื้อจะดูชุ่มฉ่ำไม่แข็งกระด้าง วงการพระเรียก “หนึกนุ่มซึ้งจัด” อันเป็นลักษณะพิเศษที่ต่างจากเนื้อดินทั่วๆ ไป อีกทั้งกรรมวิธีการเผามีการควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้สม่ำเสมอ ทำให้เนื้อขององค์พระมีสภาพแข็งแกร่งไม่เปราะหักง่ายเหมือนพระเนื้อดินเผาอื่นๆ แต่สีสันยังคงเป็นเช่นเดียวกับพระเนื้อดินที่ผ่านการเผา คือ มีตั้งแต่สีแดง สีมอย สีน้ำเงินเข้ม สีเทา ไปจนถึงสีดำ ลักษณะการตัดขอบก็ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนและไม่มีความละเอียดพิถีพิถัน บางองค์เป็นเหลี่ยมสี่ด้านบ้าง ห้าด้านบ้าง บางองค์ตัดปีกกว้าง บางองค์ตัดเฉพาะด้านซ้ายขวาและล่างแล้วปล่อยด้านบนไว้ ฯลฯ ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ในขั้นตอนการสร้างจะใช้วิธีใส่เนื้อมวลสารลงในแม่พิมพ์แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดด้านหลังให้แน่น จึงปรากฏ “รอยนิ้วมือ” ที่ด้านหลังขององค์พระเป็นลักษณะของนิ้วคนโบราณ และมีเส้นลายนิ้วมือเป็นแบบก้นหอย 

2

เนื่องจาก “พระผงสุพรรณ” เป็นพระที่บรรจุในกรุ และผ่านกาลเวลายาวนาน จึงมีคราบดินกรุติดอยู่ทั่วบริเวณองค์พระและตามซอกต่างๆ เรียกว่า “นวลดิน” โดยเฉพาะพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏชัดเจน คราบนวลดินนี้จะเกาะติดแน่นแทบกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับผิวขององค์พระ นับเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง

พระผงสุพรรณ เป็นพระขนาดเล็ก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานเขียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา พระกรทอดเรียว ที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์แบบศิลปะสกุลช่างอู่ทอง ลักษณะการแบ่งจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อก็เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองคือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม 

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ เค้าพระพักตร์จะมีเค้าความเหี่ยวย่นคล้ายคนชรา พระเนตรด้านซ้ายขององค์พระยาวรีและลึก ปลายตวัดขึ้นสูงกว่าด้านขวา พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย พระกรรณด้านขวาขมวดแบบมวยผม และตอนบนมีร่องลึกเหมือนร่องหู พระกรรณซ้ายด้านบนใหญ่หนาคล้ายหูมนุษย์ และมีเม็ดผดคล้ายเมล็ดข้าวสารสลับไปมาถึงปลายพระกรรณ พระอุระใหญ่แล้วคอดกิ่วมาทางพระนาภีคล้าย “หัวช้าง” พระหัตถ์ซ้ายหนาใหญ่ ปลายพระหัตถ์ไม่จรดพระกรขวา ข้อพระกรขวาด้านในเว้าลึก

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้ากลาง เค้าพระพักตร์มีความอิ่มเอิบคล้ายคนหนุ่ม พระอิริยาบถวางเฉย พระหนุกลมมนไม่เสี้ยมเหมือนพิมพ์หน้าแก่ พระขนงเป็นขอบลึกวาดตามรูปพระเนตรเช่นเดียวกับพิมพ์หน้าแก่ แต่ปลายไม่เชิดสูงตามหางพระเนตร พระเนตรได้ระดับเสมอกัน ไม่เหลือบสูงต่ำเหมือนพิมพ์หน้าแก่ ทำให้ลดความดุดันลง แต่เม็ดพระเนตรเป็นลักษณะเดียวกัน คือด้านขวาโบ๋ ด้านซ้ายโปนออกมา พระนาสิกป้านปลายบาน และพระโอษฐ์เล็กจู๋เหมือนพิมพ์หน้าแก่ พระกรรณด้านซ้ายยาวกว่าพิมพ์หน้าแก่ และพระกรรณด้านขวาสั้นกว่า ไม่มีเส้นพระศอเช่นกันพระอังสากลมมน บางองค์ช่วงไหปลาร้าจะบุ๋มลงไป แขนท่อนบนลีบและผอม ทำให้ช่วงรักแร้ห่างกว่าพิมพ์หน้าแก่ และช่วงแขนท่อนบนด้านซ้ายจะยาวและเล็กกว่าด้านขวา ทำให้เห็นข้อศอกซ้ายต่ำกว่าข้อศอกขวาอย่างชัดเจน พระหัตถ์ด้านซ้ายยาวกว่าพิมพ์หน้าแก่ ปลายพระหัตถ์กระดกขึ้น ส่วนด้านขวาเหมือนพิมพ์หน้าแก่ ลำพระองค์คล้าย “หัวช้าง” เหมือนพิมพ์หน้าแก่

ส่วน พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม  เค้าพระพักตร์จะดูอ่อนเยาว์ สดใส และเรียวเล็กกว่าพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้ากลาง โบราณเรียก “พิมพ์หน้าหนู” พระเนตรทั้งสองอยู่ในระนาบเดียวกัน ปลายพระเนตรด้านซ้ายเฉียงขึ้นเล็กน้อย พระนาสิกหนาใหญ่ ริมพระโอษฐ์หนา พระกรรณตั้งเป็นสันแนบพระพักตร์และยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะทั้งสองข้าง พระอุระหนาใหญ่และสอบลงมา พระกรขวาด้านในเว้าลึก ประการสำคัญ จะมีความหนามากกว่าทุกพิมพ์ และจะตัดขอบชิดเส้นทรวดทรงขององค์พระ สามารถเห็นมิติความตื้นความลึกได้อย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นพิมพ์ที่มีความลึกและคมชัดมาก สันนิษฐานว่าการถอดแม่พิมพ์น่าจะค่อนข้างยากเป็นพิเศษ ทำให้หาองค์พระที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์จริงๆ ได้น้อยมาก

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระผงสุพรรณ พระยอดนิยมเมืองสุพรรณ