ส่วนของสมาชิก

พระเลี่ยง

พระเลี่ยง

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระเลี่ยง
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระเลี่ยง

"พระเลี่ยง อีกหนึ่งในชุดพระสกุลลำพูนที่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าพระคงและพระบางเลย และนับเป็นพระที่สวยงามสง่า มีรายละเอียดต่างๆ มากมายน่าสนใจทีเดียว"

25590422_01-1

พระเลี่ยงเป็นพระเนื้อดินเผาที่มีกรวดผสม องค์พระจะค่อนข้างเล็ก มีรูปทรงสามเหลี่ยมที่โบราณาจารย์ท่านให้ความหมายว่าหมายถึงไตรรัตน์ คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มีพุทธศิลปะไปทางพุทธศิลปะเมืองละโว้ ซึ่งเป็นไปได้ที่ในสมัยพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น ได้นำช่างฝีมือจากเมืองละโว้มาด้วย ด้วยพุทธลักษณะที่เน้นเส้นแสงและองค์ประกอบต่างๆ มากมาย แสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองในสมัยนั้นอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข จึงมีเวลาสร้างพระเครื่องด้วยความประณีตพิถีพิถัน พระเลี่ยงนี้มีพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏในด้านพลังแห่งความมั่นคง

พระเลี่ยง นับเป็นพระเครื่องสกุลลำพูนที่มีพุทธลักษณะพิเศษสุดๆ ไม่เหมือนพระพิมพ์ใดๆ เรียกได้ว่าเป็นพงศาวดารที่ยิ่งใหญ่ ในองค์พระขนาดน้อยนิดจริงๆ พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย ทั่วองค์พระประดับด้วยสิ่งต่างๆ ที่เรียกกันว่า “ทรงเทริด” อันเป็นแบบลัทธิมหายาน เหนืออาสนะฐาน 3 ชั้น พระเศียรเป็นหมวกแบบ 3 กลีบ พระพักตร์ยาว คางแหลม พระเนตรแบบกลมโต และนูนสูงออกมาชัดเจน พระกรรณมีตุ้มหูประดับยาวลงมาถึงพระอังสะ พระอุระแคบ พระวรกายชะลูด พระนาภีปรากฏเส้นเล็กๆ 2 เส้น น่าจะเป็นเส้นขอบสบง พระเพลากว้างมาก ลักษณะเหมือนคนผอมสูง พระพาหาอยู่แนบองค์พระ ช่วงงอข้อศอกด้านซ้ายขององค์พระกางเล็กน้อย พระกรด้านขวาขององค์พระหักยืนออกไปหาพระเพลาซึ่งมีระดับยื่นออกมาเล็กน้อย มีฉัตร 5 ชั้น เหนือองค์พระ อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงองค์พระมหากษัตริย์ มีเส้นปริมณฑลโดยรอบฉัตรเป็นเส้นนูน เล็ก และคม นอกเส้นปริมณฑล มีเส้นนูนเล็กๆ สั้นๆ เรียงทแยงโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ บังสูรย์เป็นรูปกลีบบัว เส้นคมชัดสวยงามมาก ระหว่างเส้นบังสูรย์กับพระพักตร์เป็นร่องลึก และมีร่องรอยก้อนกรวดและมีคราบขี้กรุที่ต้องสังเกตให้ดี เพราะมีการปลอมแปลงมาก ขี้กรุแท้ๆ เวลาถูกน้ำ น้ำจะซึมออกได้ตลอด ไม่เหมือนของปลอมที่ใช้การทากาว น้ำไม่สามารถซึมออกได้ ฐาน 3 ชั้น จัดสร้างอย่างวิจิตร อีกทั้งสื่อความหมายถึงประวัติความเป็นอยู่และความมั่นคงแห่งเมืองหริภุญชัย ดังนี้  ฐานชั้นบนเป็นบัวไข่ปลา 2 แถว แสดงให้เห็นถึงสถานะของผู้นั่งเหนือบัวนั้นสูงส่ง  ฐานชั้นกลางเป็นรูปหัวช้างหรือหัวกุมภัณฑ์ 3 หัว แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงแข็งแรง  และ ฐานชั้นล่าง เป็นเส้นนูนกว้างยาวตลอดฐาน ด้านข้างทั้งสอง มีรูปมนุษย์หรือยักษ์หรือมารนั่งถวายความเคารพด้วยการถือดอกบัวทั้ง 2 ข้าง แสดงถึงความเป็นที่รักเคารพแห่งมวลประชาราษฎร์

3

พระเลี่ยงมีการขุดค้นพบจากแหล่งใหญ่ๆ 2 กรุ คือ กรุวัดประตูลี้และกรุวัดดอยติ

พระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ มีการเปิดกรุใกล้เคียงกับพระรอด และพระคง ในช่วงสงครามโลกเมื่อปี พ.ศ.2484 เป็นการแตกกรุครั้งแรกและค้นพบพระเลี่ยงครั้งใหญ่ จากความเก่าแก่ขององค์พระน่าจะเป็นพระที่สร้างในรุ่นราวคราวเดียวกับพระรอดและพระคงเช่นกัน มี 2 เนื้อ คือเนื้อดินละเอียดและเนื้อดินปนกรวด

พระเลี่ยง กรุวัดดอยติ ขุดค้นพบที่พระธาตุวัดดอยติ ซึ่งอยู่บนเขาและห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กม. แบ่งออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก พระเลี่ยง กรุวัดดอยติ พิมพ์ใหญ่มีขนาดและพุทธลักษณะต่างๆ เหมือนพระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ ทั้งความเก่าของเนื้อองค์พระ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะนำพระเลี่ยงจากกรุวัดประตูลี้มาบรรจุไว้ แต่สำหรับ “พระเลี่ยงพิมพ์เล็ก” ดูจากขนาดและสีเนื้อขององค์พระ น่าจะสร้างขึ้นในรุ่นหลังมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบพระเลี่ยงที่ กรุกู่เหล็ก กรุวัดมหาวัน และกรุดอนแก้ว ซึ่งเป็นพระเก่าเช่นเดียวกับกรุวัดประตูลี้ แต่มีจำนวนน้อยมาก

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระเลี่ยง