ส่วนของสมาชิก

พระพันวษา

พระพันวษา

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » พระพันวษา
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

พระพันวษา วัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี

"พระพันวษาเป็นพระเก่าแก่หนึ่งในพระยอดนิยมของจังหวัดสุพรรณบุรี "

25590419_01-1

จากชื่อขององค์พระก็เป็นที่รู้กันว่าต้องเป็นหนึ่งในพระตระกูลขุนแผน จากวรรณคดี "ขุนช้างขุนแผน" นอกจากนี้ ยังมีพุทธคุณเป็นเลิศตามแบบฉบับของ "สมเด็จพระพันวษา" ในเรื่องอีกด้วย คือมีพระเดชาแผ่ไปทั่วทุกทิศา ดั่งเสภากล่าวไว้ว่า

 "ครั้นว่าไหว้ครูแล้วจับบท ให้ปรากฏเรื่องราวกล่าวก่อนมา
ครั้นสมเด็จพระพันวษานรากร ครองนครกรุงศรีอยุธยา
เกษมสุขแสนสนุกดังเมืองสวรรค์ พระเดชนั้นแผ่ไปในทิศา
เป็นปิ่นภพลบโลกโลกา ครอบครองไพร่ฟ้าประชากร
เมืองขึ้นน้อยใหญ่ในอาณาเขต เกรงพระเดชทั่วหมดสยดสยอง
ต่างประเทศเขตขอบพระนคร ชลีกรอ่อนเกล้าอภิวันท์
พร้อมด้วยโภไคยไอศูรย์ สมบูรณ์พูนสุขเกษมสันต์
พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม์ ราษฎรทั้งนั้นก็ยินดี"

ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองบูชา "พระพันวษา" จะเกิดพุทธคุณด้านพระเดชและอำนาจบารมีคุ้มครองเป็นที่ปรากฏ "พระพันวษา" มีการค้นพบที่วัดพระรูป วัดเก่าแก่ใน จ.สุพรรณบุรี เป็นพระที่ไม่มีการค้นพบบรรจุอยู่ในกรุเลย แต่จะปรากฏองค์พระจมอยู่ในพื้นดินภายในบริเวณวัด นอกจากนี้ ยังพบพระตระกูลขุนแผนอื่นๆ อีก อาทิ พระขุนไกร พระขุนแผน พระพลายงาม และพระกุมารทอง แต่มีจำนวนน้อยมากพระพันวษาเป็นพระเนื้อดินเผา มีทั้งสีแดงแบบสีอิฐ สีมะขามเปียก และสีเขียวมอยด์ซึ่งพบจำนวนน้อยมาก เนื้อขององค์พระมีความละเอียดพอประมาณ ด้วยความเก่าแก่ของอายุจะเห็นว่าเนื้อมีความแห้งผาก หนึก และแกร่ง เมื่อสัมผัสกับเหงื่อเนื้อจะดูหนึกนุ่ม อันเป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่ง

พระพันวษานี้เป็นที่น่าแปลกใจว่ามีพุทธลักษณะพิมพ์ทรง และขนาดขององค์พระไม่เป็นมาตรฐานที่แน่นอน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างพื้นบ้านและมีผู้สร้างหลายคน ซึ่งแต่ละคนก็ต่างแกะแม่พิมพ์ตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ลักษณะโดยรวมแล้วรูปทรงจะดูคล้ายผลมะม่วงที่มีปลายยอดตรงบ้าง เอียงโค้งไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง องค์พระประธานประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย มีพุทธศิลปะแบบพระพุทธรูปสมัยอู่ทองยุคปลาย คือ พระวร กายค่อนข้างสูงชะลูด มีเป็นส่วนน้อยมากที่พระวรกายไม่สูง

  • พระเศียรโล้น
  • พระพักตร์ไม่ปรากฏรายละเอียดพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์
  • ไม่ปรากฏพระกรรณทั้ง 2 ข้าง
  • พระอุระนูน ไม่ปรากฏเส้นพระสังฆาฏิ
  • ด้านบนเป็นเศวตฉัตร มีตั้งแต่ 3 ชั้น ถึง 7 ชั้น แต่ที่พบส่วนใหญ่จะเป็น 4 ชั้น
  • ทั้ง 2 ข้างของพระวรกายเป็นเม็ดประคำบ้าง ซุ้มเรือนแก้วบ้าง บางองค์มีทั้งซุ้มเรือนแก้วและเม็ดประคำก็มี

ถึงแม้พิมพ์ทรง ขนาด หรือพุทธลักษณะของ "พระพันวษา วัดพระรูป" จะหาความแน่นอนไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่จริงแท้แน่นอนก็คือ พุทธคุณอันเป็นเลิศจนได้รับความนิยมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง สนนราคายังพอเช่าหาได้อยู่ งานนี้การดูพระแท้ต้องดูที่ความเก่าของเนื้อเป็นสำคัญครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/พระพันวษา วัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี