ส่วนของสมาชิก

วัตถุมงคล หลวงปู่ทวดวัดม่วง

วัตถุมงคล หลวงปู่ทวดวัดม่วง

หน้าแรก » กรุพระ » พระเครื่อง » วัตถุมงคล หลวงปู่ทวดวัดม่วง
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

วัตถุมงคลหลวงปู่ทวด วัดม่วง ย่านบางแค

"นับเป็นพระหลวงปู่ทวดอีกสำนักหนึ่งที่มีความเข้มขลังและเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ เป็นพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่พระอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้ และพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังอีกหลายท่านมาร่วมพิธีปลุกเสก"

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี เป็นพระเครื่องที่เป็นสุดยอดในเรื่องของความแคล้วคลาดครับ อาสาสมัครในการกู้เก็บศพอย่างคุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ซึ่งเป็นนักสะสมพระเหมือนกันยังกล่าวเลยครับว่าตั้งแต่เก็บศพมาเป็นพันศพยังไม่เคยเจอศพไหนที่ห้อยหลวงปู่ทวด แล้วเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลยครับ ซึ่งหลวงปู่ทวดที่วงการนิยมเสาะแสวงหานั้นเป็นพระเครื่องที่พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ปลุกเสก ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2500 หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากสืบเนื่องจากประสบการณ์เรื่องแคล้วคลาดล้วนๆ ดังนั้น หลายวัดในช่วงเวลาดังกล่าวจึงนิยมสร้างพระเครื่องพิมพ์หลวงปู่ทวดและนิมนต์พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้มาร่วมปลุกเสกด้วยทุกครั้ง ซึ่งท่านก็รับนิมนต์ด้วยความเต็มใจ อาทิ วัดประสาทบุญญาวาส ท่าน้ำสามเสน,วัดเอี่ยมวรนุช บางขุนพรหม,วัดสิตาราม(คอกหมู) มหานาค ฯลฯ

25590416_02-1

วัดม่วง ถนนเพชรเกษม 63 แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีตำนานความเข้มขลังของพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ โดยในปีพ.ศ.2505 ทางวัดมีความคิดที่จะสร้างพระพิมพ์หลวงปู่ทวดขึ้นมา และได้นิมนต์พระอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้มาร่วมปลุกเสกด้วย วัดนี้สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติวัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2366 ปลายรัชกาลที่ 2 โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่ง นามว่า ′หลวงปู่เฒ่า′ ธุดงค์พายเรืออีแปะมาด้วยตนเอง จนมาพักจำวัดบริเวณที่ตั้งวัดม่วงในปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าท่านจำวัดในเรือไม่สะดวก จึงนิมนต์ให้จำวัดบนบ้านและนิมนต์ให้อยู่สร้างวัดในที่แห่งนี้โดยขนานนามว่า "วัดราชครูสิทธาราม"

ส่วนที่มาของชื่อวัดม่วงนั้น เนื่องจากบริเวณหน้าวัด ติดคลองภาษีเจริญ เป็นเส้นทางลำเลียงพืชผลทางการเกษตรสู่พระนคร เมื่อถึงบริเวณหลักสอง คลองจะตื้นเขินไม่สามารถสัญจรต่อไปได้ ทำให้ต้องนำผลไม้ขึ้นมาตากบริเวณลานวัด ส่วนใหญ่เป็นมะม่วง เนื่องจากบางส่วนจะสุกงอมอาจเน่าเสีย ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดมะม่วง" จนต่อมากลายเป็นวัดม่วงในปัจจุบัน การสร้างพระเครื่องรูปหลวงปู่ทวดครั้งนี้ เกิดจากความศรัทธาของ พระอาจารย์ยิ้ม อาภาธโร ซึ่งได้เดินทางไปศึกษาธรรมทางภาคใต้อยู่ช่วงหนึ่ง ได้ไปเป็นศิษย์ศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้ จึงมีความคิดที่จะสร้างพระบูชาขนาดใหญ่ เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดม่วง บางแค กรุงเทพฯ พร้อมกับสร้างพระเครื่องเพื่อให้ประชาชนบูชา จึงได้ขออนุญาตพระครูปัญญาวรคุณ เจ้าอาวาสในขณะนั้น และขอให้พระอาจารย์ทิมมาดำเนินการให้ ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งสองก็ยินดีเป็นธุระจัดการให้ตามความประสงค์ จากเอกสารการจัดสร้างพระหลวงปู่ทวดของวัดม่วงนั้นมีพิมพ์ทรงต่างๆ หลายพิมพ์ บางพิมพ์มีมาก บางพิมพ์มีน้อย แล้วแต่การกดพิมพ์ในสมัยนั้น ซึ่งใช้วิธีโบราณ แต่มีพระเนื้อว่านพิมพ์เล็ก รวมพิมพ์ได้ถึง 21 พิมพ์ สร้างเท่าพ.ศ.ในสมัยนั้น

โดยเริ่มดำเนินการกดพิมพ์พระโดยท่านอาจารย์ทิม ในช่วงก่อนเข้าพรรษาของปี พ.ศ.2505 และจากนั้นพระภิกษุ-สามเณร และคณะกรรมการของวัด ได้ร่วมกันกดพิมพ์พระจนได้พระพิมพ์ทั้งหมด 84,000 องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ โดยส่วนผสมขององค์พระประกอบไปด้วย 1. ว่าน 108 จัดหาโดยวัดม่วง 2.ผงว่านกากยายักษ์ของหลวงปู่ทวด วัดช้างให้รุ่นแรก ปี 2497 โดยท่านพระอาจารย์ทิม มอบให้มาเป็นส่วนผสม 3.น้ำพระพุทธมนต์ของพระราชธรรมาธรณ์ หรือหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จุดประสงค์ของการสร้างพระหลวงปู่ ทวดชุดนี้เพื่อสมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญ สร้างสะพานจากวัดถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม บำรุงการศึกษาในท้องถิ่น ต.หลักสอง อ.หนองแขม จ.ธนบุรี (ในสมัยนั้น) และสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยภาคใต้ด้วย

ในงานนี้ได้มีการหล่อหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดเพื่อให้พุทธ ศาสนิกชนพี่น้องชาวพระนคร-ธนบุรี(ในสมัยนั้น) ได้กราบไหว้สักการะโดยทั่วกัน จัดงาน 3 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 18-19-20 ธันวาคม 2505 ฤกษ์พิธีพุทธาภิเษกวันที่ 18 ธันวาคม 2505 เวลา 20.00 น. (ตลอดคืน) ในงานนี้ได้อาราธนาพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากหลายจังหวัดมาร่วมนั่งปรกปลุกเสก  อาทิ หลวงพ่อเขียน วัดถ้ำขุนเณร จ.พิจิตร, หลวงพ่อทบ จ.เพชร บูรณ์, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อนอ วัดกลาง จ.พระ นครศรีอยุธยา, หลวงพ่อนา วัดจางวางพ่วง กรุงเทพฯ, หลวงปู่นาค วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นคร ปฐม, หลวงพ่อสำเนียง วัดเวฬุวัน จ.นครปฐม, หลวงปู่เต็ม วัดนิมมานรดี กรุงเทพฯ,หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง จ.สมุทรสาคร และที่ไม่ได้กล่าวนามอีก 30 กว่าองค์ รวมทั้งพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ จ.ปัตตานี หลังจากนั้นท่านอาจารย์ทิม ได้แบ่งพระจำนวนหนึ่งไปแจกที่วัดช้างให้ด้วย  ด้วยจำนวนพระที่สร้างสมัยนั้นมีราคาไม่มากนัก และผู้สร้างมีเจตนานำปัจจัยมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การศึกษา และสาธารณกุศล เมื่อสิ่งต่างๆ เสร็จสมบูรณ์แล้ว พระบางส่วนจึงได้ถูกเก็บไว้และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ราคาเช่าหายังไม่สูงมาก สำหรับพิมพ์ใหญ่อยู่ที่หลักร้อยปลาย ถึงพันนิดๆ แต่ถ้าเป็นพิมพ์ใหญ่พิเศษ จะอยู่ราวๆ พันห้าขึ้นไป ถ้าเป็นชุดกรรมการ ปิดทองเดิมๆ มาจากวัด พร้อมเลี่ยมจากวัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2505 ก็คงต้องบวกค่าอนุรักษ์ขึ้นไปอีกหน่อย จุดสังเกตพระเนื้อว่านพิมพ์หลวงปู่ทวดของวัดม่วง ด้านหลังจะต้องโรยเกล็ดตะไบทองเหลืองไว้ด้วย สำหรับพระพิมพ์ใหญ่พิเศษ พระอาจารย์ทิม ท่านเป็นผู้ควบคุมการพิมพ์พระจนครบ และเป็นผู้ติดแร่ที่ด้านหลังองค์พระด้วยตัวท่านเองทุกองค์ ของเก๊นั้นยังไม่พบเห็น เช่าหาได้สบายใจ  แต่ในอนาคตอาจจะมีเพราะ "มือผี" ซุ่มดูสถานการณ์อยู่ หลวงปู่ทวดที่สร้างจากวัดม่วงนี้ นับเป็นพระหลวงปู่ทวดอีกสำนักหนึ่งที่มีความเข้มขลังและเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณ เป็นพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่พระอาจารย์ทิม แห่งวัดช้างให้ ได้ทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด มาร่วมพิธีพุทธาภิเษกตามตำรับของท่านอีกพิธีหนึ่ง และยังเป็นพิธีที่มีที่มีพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังอีกหลายท่านมาร่วมพิธีปลุกเสก

กล่าวโดยรวมก็คือ เป็นพระมวลสารดี พิธีปลุกเสกใหญ่ เจตนาการสร้างบริสุทธิ์ ราคายังไม่สูงเกินไป และถือว่าเป็นพระสายตรงของวัดช้างให้ก็ไม่ผิด เพราะมีมวลสารศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับหลวงปู่ทวดรุ่นแรก แถมพุทธคุณก็แรง

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ที่มา: www.aj-ram.com/view/วัตถุมงคลหลวงปู่ทวด วัดม่วง ย่านบางแค