ส่วนของสมาชิก

เหรียญหลวงปู่รอด

เหรียญหลวงปู่รอด

หน้าแรก » กรุพระ » เหรียญพระพุทธ » เหรียญหลวงปู่รอด
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี

"นับเป็นเหรียญที่ทรงคุณค่าทั้งด้านจิตใจ และมีพุทธคุณเป็นที่ปรากฏด้านเมตตามหานิยม ได้รับความนิยมอย่างสูงตลอดแนวลำน้ำโขง ชี มูล"

 25590412_05-1

วันนี้จะคุยกันเรื่องเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด แห่งวัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเหรียญอันดับหนึ่งแห่งภาคอีสานเลยทีเดียว ทั้งที่ภาคอีสานนับได้ว่ามีพระเกจิอาจารย์มากมายที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนอย่างล้นหลาม และวัตถุมงคลต่างๆ ที่สร้างแจกจ่ายก็มีหลากหลายซึ่งล้วนเป็นที่นิยมสะสมกันในแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์แทบทั้งสิ้น 

"พระครูวิโรจน์รัตโนบล" หรือ "หลวงปู่รอด" เกิดที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปีพ.ศ. 2396 บวชเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็ก เมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบท ณ วัดมณีจัน จ.อุบลราชธานี แล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ท่านมีความชำนาญทั้งด้านวิปัสสนาธุระและด้านไสยเวท รวมทั้งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างด้วย ท่านเป็นพระที่เคร่งในวัตรปฏิบัติและดำรงตนตามครรลองแห่งพระธรรมวินัยอยู่เป็นนิจศีล รักสันโดษ มีความเมตตากรุณา ให้ความช่วยเหลือแก่สาธุชนทุกชั้นไม่เลือกชั้นวรรณะ จนเป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกลและได้รับการขนานนามว่า "หลวงปู่ดีโลด" ซึ่งหมายความว่า ทุกอย่างของหลวงปู่ดีทั้งนั้น ต่อมาท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นที่พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง และได้รับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ ตามลำดับ

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ ก็คือ การได้รับความเชื่อถือแต่งตั้งให้เป็นประธานในการบูรณะซ่อมแซม "พระธาตุพนม จ.นครพนม" ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก กว่าการบูรณปฏิสังขรณ์จะเสร็จสิ้นลงได้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานัปการ แต่ด้วยบุญบารมี

และความพากเพียรของท่าน ในที่สุดการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ก็สำเร็จลงเมื่อปีพ.ศ. 2449 นับเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มาก หลวงปู่รอดเป็นที่เคารพรักอย่างสูงสุดของประชาชนสองจังหวัดคือ อุบลราชธานี และนครพนม สมณศักดิ์สุดท้ายได้เป็นที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ท่านมรณภาพเมื่อปลายปีพ.ศ. 2484 สิริอายุ 88 ปี พรรษาที่ 68 ชาวบ้านและลูกศิษย์ลูกหาได้ร่วมกันสร้าง "เจดีย์" เพื่อบรรจุธาตุของท่านไว้ที่วัดทุ่งศรีเมือง และสร้าง "รูปเหมือน" ที่ฐานขององค์พระธาตุพนมพร้อมจารึกเกียรติประวัติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่าน

 

ในปีพ.ศ. 2483 ทางราชการต้องการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ดูแล ท่านได้ทราบเรื่องราวและผลงานของหลวงปู่รอดและมีความศรัทธาอย่างมาก จึงได้ขออนุญาตในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้น 2 แบบ คือ "เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด" และ "เหรียญพระธาตุพนมช่วยชาติ" สร้างขึ้นก่อนท่านมรณภาพเพียง 1 ปี เหรียญทั้งสองแบบนี้ หลวงปู่รอดทำพิธีปลุกเสกด้วยตนเองทั้งสิ้น โดย "เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด" มอบให้ทางวัดทุ่งศรีเมือง ส่วน "เหรียญพระธาตุพนมช่วยชาติ" มอบให้ทางพระธาตุพนม เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้บริจาคทรัพย์ร่วมซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม

 

เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่รอด ปี 2483 สร้างเป็นเนื้อทองแดง เนื้อสัมฤทธิ์ และกะไหล่เงิน กะไหล่ทอง รูปไข่หูเชื่อมด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่รอด นั่งสมาธิเต็มองค์เหนืออาสนะ มีอักขระขอมด้านซ้าย-ขวา อ่านว่า "อะ เม อุ" และ "นะ มะ พะ ทะ" ด้านหลัง มีอักขระขอมอ่านจากบนลงล่างเป็น 4 แถวว่า "อะระหัง อะระหัง หังระอะ ยะระหา"

นับเป็นเหรียญที่ทรงคุณค่าทั้งด้านจิตใจ และมีพุทธคุณเป็นที่ปรากฏด้านเมตตามหานิยม ได้รับความนิยมอย่างสูงตลอดแนวลำน้ำโขง ลำน้ำชี ลำน้ำมูล ฯลฯ รวมทั้งแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์ครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/เหรียญหลวงปู่รอด วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี