ส่วนของสมาชิก

หลวงปู่ทวด หลังตัวหนังสือ 05

หลวงปู่ทวด หลังตัวหนังสือ 05

หน้าแรก » กรุพระ » เหรียญพระพุทธ » หลวงปู่ทวด หลังตัวหนังสือ 05
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

หลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือ 05

"ได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากสนนราคายังถูกกว่าหลวงปู่ทวดพิมพ์อื่นๆ และไม่ต้องห่วงครับมีของเก๊มากมายในท้องตลาด"

25590413_04-1

ในคราวที่มีการสร้าง "พระหลวงปู่ทวดเนื้อโลหะ" ตามคำเรียกร้องของสาธุชนที่เรียกกันว่า "หลังเตารีด” ปี พ.ศ.2505 นั้น มีการสร้างและปลุกเสกพระเครื่องหลวงปู่ทวดอีกหลายประเภท ที่รู้จักกันดีเรียกว่า "พระหลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือ" ซึ่งสร้างโดยการปั๊มจากโรงงานและได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากสนนราคายังถูกกว่าหลวงปู่ทวดพิมพ์อื่นๆ และไม่ต้องห่วงครับมีของเก๊มากมายในท้องตลาด

เอกลักษณ์ของพระหลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือนั้น อาจสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • เนื่องจากเป็นการปั๊มด้วยเครื่องของโรงงาน ขอบข้างขององค์พระจะมีรอยเส้นของการกระแทกตัดอยู่โดยรอบ
  • หลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือมีความหนาพอสมควร และวัสดุที่ใช้เป็นประเภทโลหะผสมแก่ทองเหลือง พบเป็นทองเหลืองล้วนๆ บางส่วน มีการนำไปกะไหล่ทองหรือบ้างก็รมดำ ตัวองค์พระมีความฉ่ำเนื่องจากน้ำมันที่อาจารย์สวัสดิ์ชุบ ก่อนส่งไปทางรถไฟให้พระอาจารย์ทิมวัดช้างให้ปลุกเสก เข้าไปเกาะติดอยู่ตามซอก
  • เนื่องจากเป็นพระโรงงานจึงมีความเรียบร้อยกว่าแบบอื่นๆ สามารถแบ่งออกเป็น พิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็ก "พิมพ์ใหญ่"จะมีบล็อกตัว ท. คือมีตัว ท ทหาร บริเวณใต้หน้าตักเหนือฐานบัว, พิมพ์บล็อกวงเดือน หมายถึงบริเวณฐานจะมีรอยวงโค้งเป็นริ้วๆ คล้ายวงเดือน, บล็อกเสาอากาศ หมายถึงด้านหลังองค์พระที่เป็นตัวหนังสือมีเส้นพิมพ์แตกลากไล่จากด้านบนลงมาล่างในแนวเฉียง ปลายเส้นบนชี้ไปตามเข็มนาฬิกาที่เวลา 11.00 น. และบล็อกธรรมดา นอกจากนี้ยังมีบล็อกที่เรียกกันต่างๆ อีก เช่น บล็อกสายฝนหมายถึงใต้ท้องแขนซ้ายมีเส้นเล็กๆ คล้ายสายฝน บางทีก็มีเรียกบล็อกหน้าวงเดือนหลังเสาอากาศ เป็นต้น
  • ส่วน "พิมพ์เล็ก" นั้น นอกจากเนื้อที่กล่าวแล้ว ยังปรากฏเนื้ออัลปาก้าด้วย และมีหลายบล็อกเช่นกัน ได้แก่ บล็อกตัว ท. บล็อก ว จุด หมายถึง ตัว ว แหวนของคำว่า วัด ด้านหลัง จะมีจุดตรงหัว ว แหวน ให้สังเกตเส้นจะต่อกับจุดที่ปรากฏคล้ายคีมคีบจุดเอาไว้ นอกจากนี้ก็จะมีบล็อกธรรมดาทั่วไป ซึ่งบล็อกธรรมดาจะไม่มีจุดตรงตัว ว แหวนด้านหลัง ส่วนด้านหน้าจะเป็นบล็อกเดียวกันกับบล็อก ว จุดครับ
  • ทีนี้เราลองมาพูดกันถึง "บล็อกนิยมพิมพ์ใหญ่มีตัว ท." กันก่อนนะครับ วิธีสังเกตนอกจากจะต้องดูธรรมชาติขององค์พระและรอยปั๊มให้เป็นแล้ว มีข้อสังเกตคือ รูปทรงองค์พระจะมีลักษณะเป็นกลีบบัวแต่ปลายมนไม่แหลมเหมือนหลังเตารีด, ตาหลวงปู่จะนูนกลมเป็นเม็ดที่เรียกว่าตาเนื้อทั้งสองข้าง, บ่าขวาจะยกสูงกว่าบ่าซ้ายเห็นกระดูกไหปลาร้าชัดเจนและปลายนอกกระดูกไหปลาร้าจะจรดกับเส้นกระดูกหัวไหล่, ปลายนิ้วชี้มือซ้ายขององค์พระแตกเป็นปากตะขาบ
  • ด้านหลังของหลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือจะเรียงเป็นแถว อ่านได้ว่า แถวที่ 1 นะ แถวที่ 2 โมโพธิสัต แถวที่ 3 โตอาคันติมา แถวที่ 4 ยะอิติภะคะวา ซึ่งพระคาถานี้ได้ผูกขึ้นมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง

3

"นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา" ถอดความได้ว่า "ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ อันเป็นผู้นำพาโชคเข้ามาสถิตในตัวของข้าพเจ้านี้ซึ่งข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชาด้วยความเคารพ” ด้านล่างสองแถวเป็นคำ หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ถ้าเป็นบล็อกเสาอากาศเส้นจะผ่าน คำว่า โม-ในแถว 2 โต-อะ ในแถว 3 อิ-ติ ในแถว 4 จนถึง คำว่า ง-พ่อ

  • ส่วนตัว ว ด้านหลังองค์พระนั้น จะมีหลายลักษณะ เช่น ว มีจุด ว หัวกลวง ว หัวแบน ว หัวเหลี่ยม ให้สังเกตที่ตัวอักษรที่ตั้งขึ้นมาจากพื้นจะต้องเป็นเหลี่ยมคมชัดไม่เบลอ องค์หลวงปู่มีน้ำหนักพอสมควร และมีร่องรอยการปั๊มตัดเป็นเส้นๆ ตามขอบชัดเจน

ซึ่งความจริงแล้ว หลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือนั้น ยังมีหลักและวิธีการพิจารณาบล็อกต่างๆ ซึ่งไว้มีโอกาสจะได้มาพูดคุยกันกับท่านผู้อ่านตามคำเรียกร้องครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

ที่มา: www.aj-ram.com/view/หลวงปู่ทวดหลังตัวหนังสือ 05