ส่วนของสมาชิก

ค่านิยม พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ

ค่านิยม พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ

หน้าแรก » กรุพระ » เหรียญพระพุทธ » ค่านิยม พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ
Written by: seksan fundungnoen Posted in กรุพระ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

ค่านิยม พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ

"เมื่อได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น ก็เริ่มมีการแบ่งแยก เนื้อพระ และพิมพ์ทรง ให้เป็นเนื้อและพิมพ์นิยมมากขึ้น ซึ่งเนื้อ "ทองดำ นาก เงิน" ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดตามลำดับ"

การจัดสร้างพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ถือว่าสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์ของวงการพระเครื่อง พิธีจัดสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีตั้งแต่กรุงรัตน์โกสินทร์เป็นราชธานีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีพิธีใดจะยิ่งใหญ่เท่า เนื่องด้วยพิธีที่ยิ่งใหญ่ เจตนาและวัตถุประสงค์ในการสร้างที่ดี ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพุทธมณฑล เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ และเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปจำลอง "พระพุทธปฏิมาประธานพุทธมณฑล" รวมทั้งทรงกดพระพิมพ์ พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื้อดินผสมเกสร จำนวน ๓๐ องค์ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐

มีพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยจำนวนมาก เรียกว่ารูปใดดังมีชื่อเสียงในสมัยก็นิมนต์มากปลุกเสกทุกวัด เช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย) วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พระครูทิวากรคุณ (หลวงปู่กลีบ) วัดตลิ่งชัน พระครูโสภณกัลยานุวัตร (หลวงพ่อเส่ง) วัดกัลยาณมิตร พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ จึงขึ้นชื่อว่าน่าใช้ น่าเก็บ และน่าหามาบูชาอย่างยิ่ง

25590409_04-1

ในเอกสารงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ระบุไว้ว่า พระเนื้อชิน มีการจัดสร้าง จำนวน ๒,๔๒๑.๒๕๐ องค์ ประกอบด้วย พลวง ดีบุก ตะกั่วดำ ผสมด้วย นวโลหะ คือ ชินหนัก ๑ บาท เจ้าน้ำเงินหนัก ๒ บาท เหล็กละลายตัวหนัก ๓ บาท บริสุทธิ์หนัก ๔ บาท สังกะสีหนัก ๖ บาท ทองแดงหนัก ๗ บาท เงินหนัก ๘ บาท และทองคำหนัก ๙ บาท ตลอดจนแผ่นทองแดง ตะกั่ว เงิน ที่พระอาจารย์ต่างๆ เกือบทั่วราชอาณาจักร ได้ลงเลขยันต์ส่งมาให้ รวมทั้งเศษชนวนจากการหล่อพระในแห่งอื่นๆ รวมหล่อผสมลงไปด้วย

การจัดสร้างพระผง หรือเนื้อดิน มีจำนวน ๒,๔๒๑,๒๕๐ องค์ เช่นกัน โดยผสมด้วยเกสรดอกไม้ ๑๐๘ ชนิด ตลอดจนดินจากหน้าอุโบสถจากพระอารามต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร และผงพุทธาคมต่างๆ รวมทั้งพระผงต่างๆ แบบของโบราณ และของพระอาจารต่างๆ ที่สร้างไว้แต่โบราณกาล ได้ส่งมาผสมเป็นมวลสารในการสร้างพระในครั้งนี้ด้วย รวมพระทั้ง ๒ เนื้อ ๔,๘๔๒,๕๐๐ องค์

ส่วนเนื้อทองคำ มีการจัดสร้างเพียง ๒,๕๐๐ องค์ เพื่ให้สอดคล้องกับปีการจัดสร้าง คือ พ.ศ. ๒๕๐๐ ใช้ทองคำหนักประมาณ ๖ สลึง โดยใช้วิธีสั่งจองล่วงหน้า ๑,๐๐๐ บาท ส่วนเงินสมทบทุนจริง ๒,๕๐๐ บาท ทั้งนี้ ผู้สั่งจองชำระเงินอีก ๑,๕๐๐ บาท หรือจะชำระคราวเดียว ๒,๕๐๐ บาทก็ได้  นอกจากนี้แล้วมีการจัดสร้างพระเพื่อเป็นการสมนาคุณกับผู้ร่วมทำบุญอีกด้วย คือ พระเนื้อทองคำหนัก ๑ บาท อีก ๑๕ องค์ มอบเป็นที่ระลึกให้ผู้ร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างพุทธมณฑล ๑๐,๐๐๐ บาท ในครั้งนั้นมีผู้สมบททุนสร้าง ๑๕ ราย ส่วนเนื้อนากนั้นมีการจัดสร้าง ๓๐ องค์ หนัก ๑ บาท เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับผู้ทำบุญ ๕,๐๐๐ บาท มีผู้ทำบุญ ๓๐ ราย ในขณะที่ผู้ทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท จะได้รับมอบพระเนื้อเงิน ๑ องค์ ปรากฏว่ามีผู้ร่วมทำบุญ ๓๐๐ ราย

วัตถุประสงค์การจัดพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ เพื่อหารายได้สร้างพุทธมณฑลที่ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในเมืองไทย สมัยนั้นใครที่ไปติดต่อราชการที่อำเภอหรือจังหวัด จะต้องทำบุญเช่าพระ พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ สมัยก่อน ๑ องค์ ๕ บาท ทำให้คนไทยเกือบทุกบ้านมีพระรุ่นนี้กันอย่างทั่วถึง แต่เนื่องจากจำนวนสร้างมีมากเป็นล้านองค์ ทำให้ พระเครื่อง๒๕ พุทธศตวรรษ บางเนื้อยังคงมีเหลืออยู่ที่ พุทธมณฑล ในขณะเดียวกัน พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ ในตลาดพระก็ยังมีการเช่าบูชากันในราคาที่ไม่แพงนัก ยกเว้นพระเนื้อพิเศษ เช่น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน หรือหรือดินเผาสีแปลกๆ องค์สวยคมชัดมาก ก็อาจจะมีราคาแพงกว่าองค์ธรรมดา

การแบ่งพิมพ์ และเนื้อของพระ เริ่มขึ้นเมื่อได้รับความนิยมจากประชาชนแล้วก็เริ่มมีการแบ่งแยก เนื้อพระ และพิมพ์ทรง ให้เป็นเนื้อและพิมพ์นิยมมากขึ้น ซึ่งเนื้อ "ทองดำ นาก เงิน" ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดตามลำดับโดยแบ่ง "เนื้อชิน" ออกเป็น "พิมพ์มีเข็ม" นิยมมากกว่าพิมพ์ "ไม่มีเข็ม" ส่วนด้าน "เนื้อดิน" ก็มีการแยกตามความนิยมออกโดยจัด "เนื้อสีดำ" เป็นเนื้อที่ได้รับความนิยมที่สุด จากนั้นก็จัด "เนื้อโทนสีช็อกโกแลต" ได้รับความนิยมรองลงมา และ "เนื้อแร่" ก็ได้รับความนิยมในระดับเดียวกับ "เนื้อช็อกโกแลต" ส่วนเนื้ออื่นๆ ก็ได้รับความนิยมรองลงมา

ค่านิยมสูงสุด ต้องยกให้เนื้อทองคำ ค่านิยมอยู่ในหลัก ๘-๙ แสนบาท ค่านิยมเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๘ อยู่ที่ ๑๐๐,๐๐๐-๑๕๐,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นอีกประมาณ พ.ศ.๒๕๔๑ ค่านิยมขึ้นมาอยู่ที่ ๒๐๐,๐๐๐-๒๕๐,๐๐๐ บาท และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ค่านิยมเพิ่มเป็น ๔๐๐,๐๐๐ บาท ก่อนที่จะมาเป็น ๕๐๐,๐๐๐-๖๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ จากนั้นเพิ่มเป็น ๘๐๐,๐๐๐-๙๐๐,๐๐๐ บาท ใน พ.ศ.๒๕๕๓

ในอดีต เหรียญนี้ถือว่าเป็นเหรียญที่เล่นยากมาก เนื่องจากในอดีตไม่มีคนชี้ขาดได้อย่างชัดเจน เพราะเหรียญมีการหมุนเวียนจำนวนน้อยมาก ในขณะที่มีการทำเหรียญปลอมออกมาขายจำนวนมากอีกเช่นกัน  เหตุผลหนึ่ง คือ เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญไม่มีหู จึงไม่สามารถใช้เป็นจุดสังเกตได้ ต้องดูความคมอย่างเดียว เซียนพระยุคนั้นถึงกับใช้ตาชั่งเพื่อชั่งน้ำหนักทองของเหรียญ ซี่งมีน้ำหนักทองเท่า ๖ สลึง  ถ้าไม่ได้ตามนี้จะไม่เช่า โดยตีเป็นพระเก๊ไปเลย

เมื่อเวลาผ่านไป ได้ทดลองนำเหรียญไปชั่งแล้วพบว่า น้ำหนักของพระแต่ละองค์แตกต่างกัน น้ำหนักขององค์พระไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความแท้หรือปลอมขององค์พระ หากดูตัวตัดบริเวณของเหรียญ ความหนาของเหรียญ ตลอดจนความคมชัด ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าฝีมือการปลอมทำได้ใกล้เคียงกับเหรียญของแท้มากถึง ๙๕% ส่วนเหรียญเนื้อเงิน ค่านิยมอยู่ที่ ๒-๓ แสนบาท ถ้าเป็นเนื้อตะกั่วอยู่หลักพันต้นๆ ถ้าเป็นเหรียญมีเข็มค่านิยมจะอยู่ที่ ๓-๔ พันบาท ด้วยเหตุที่ว่าจำนวนที่พบมีน้อยกว่า ส่วนเนื้องผงค่านิยมอยู่ในหลักร้อยถึงหลักพัน เพราะจำนวนการสร้างมีมากนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันศุกร์ที่ ๒๓ ถึงวันอังคารที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ นี้ ที่สวนอัมพรได้มีการจัดงานเทศกาลวันเข้าพรรษา และวันอาสาฬหบูชา โดยในงานดังกล่าว พระราชพิพัฒน์โกศล หรือ "หลวงพ่อเณร" เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหาร กทม. ในฐานะกรรมการจัดหาทุนสร้างห้องจัดแสดงและปรับปรุงซ่อมแซมอาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา ได้นำเหรียญพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ เนื้อชินตะกั่ว เนื้อดินเผา และเนื้อนิเกิ้ล ออกมาให้เช่าบูชา องค์ละ ๓๐๐ บาท เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างห้องจัดแสดงและปรับปรุงซ่อมแซมอาคารพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนพุทธมณฑล จ.นครปฐม พุทธศาสนิกชนร่วมบุญโดยสอบรายละเอียดได้ที่ ศาลาการเปรียญวัดศรีสุดารามวรวิหาร ถนนบางขุนนนท์ (ปากทางเข้าซอยจรัญ ๔๒) แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กทม.โทร.๐-๒๔๓๓-๒๒๒๙

"การแบ่งพิมพ์และเนื้อของพระเริ่มขึ้นเมื่อได้รับความนิยมจากประชาชนแล้วก็เริ่มมีการแบ่งแยก เนื้อพระ และพิมพ์ทรง ให้เป็นเนื้อและพิมพ์นิยมมากขึ้น ซึ่งเนื้อ "ทองดำ นาก เงิน" ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดตามลำดับ"

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก

ที่มา: www.aj-ram.com/view/ค่านิยม พระ ๒๕ พุทธศตวรรษ