ส่วนของสมาชิก

คอลัมน์ อริยะโลกที่6 : หลวงปู่บุญ ขันตโร พระเกจิชื่อดังอุบลฯ

คอลัมน์ อริยะโลกที่6 : หลวงปู่บุญ ขันตโร พระเกจิชื่อดังอุบลฯ

หน้าหลัก » ข่าวสารล่าสุด » คอลัมน์ อริยะโลกที่6 : หลวงปู่บุญ ขันตโร พระเกจิชื่อดังอุบลฯ
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

“หลวงปู่บุญ ขันตโร” หรือ “พระอุปัชฌาย์บุญ” อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดแสงน้อย จ.อุบลราชธานี ที่ชาวเมืองอุบลให้ความเลื่อมใสศรัทธา

บรรพชาตั้งแต่อายุ 17 ปี มี หลวงปู่ห่าน พุทธสาโร เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นท่านได้ศึกษาวิทยาคมกับหลวงปู่ห่าน จนมีความชำนาญหลากหลายด้าน

ครั้นอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท มีหลวงปู่ห่าน วัดนาคำใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อหนู ขันติโก วัดบ้าน ป่าข่า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อพระอธิการบุญมา จันโท วัดบ้านผึ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ขันตโร”

เรียนวิชากับพระอุปัชฌาย์ทั้ง 3 ท่าน ได้ภูมิรู้ภูมิธรรมพอตัว ต่อมาหลวงปู่ห่านได้พาท่านไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง (หลวงปู่รอด บูรณะพระธาตุพนม) ในปีพ.ศ.2483

หลวงปู่รอดถ่ายทอดวิชาสารพัดให้ศิษย์อย่างมิมีปิดบัง อาทิ วิชามหามนต์ยักษิณี, วิชาคาถาน้ำมนต์ขนานยักษ์, วิชาสีผึ้งดำช้างหลงโขลง และวิชาคาถามหาเมตตา

ท่านได้อยู่เรียนวิชากับหลวงปู่รอดได้เพียง 2 ปี เมื่อปีพ.ศ.2485 หลังจากนั้นได้ไปเรียนกัมมัฏฐานจากพระอาจารย์แพง จ.สกลนคร ศิษย์เอกสมเด็จลุน นครจำปาสัก หลังจากนั้นได้ลาพระอาจารย์แพงเข้าเมืองไปเรียนวิชาสายสำนักวัดประดู่ในโรงธรรม พระนครศรีอยุธยา โดยพักอยู่ที่วัดพระแก้ว ต.กะจิว กิ่ง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา

ผ่านไปอีกหลายปี หลวงปู่บุญได้ย้ายไปอยู่ที่วัดสระปทุมมี พ.ท.ประสาร ทองภักดี เป็นอุปัฏฐาก ครั้นเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ท่านจึงกลับวัดแสงน้อย รับแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาส

ขณะที่ท่านอยู่วัดแสงน้อยนั้น ท่านเดินธุดงค์ไปอีสานเหนืออีกครั้งหนึ่ง ไปอยู่กับญาท่านแพง อาจารย์ของญาท่านสวน วัดนาอุดม เดิน ธุดงค์ 3 รูป ประกอบด้วย ญาท่านแพง, ญาท่านสวน และหลวงปู่บุญ

การธุดงค์ครั้งนี้ไม่เหมือนตอนเป็นสามเณร ด้วยต้องผ่านเข้าป่าดงบังอี่ ซึ่งคนแถวนั้นถือเป็นป่าผีสิง ไม่มีใครกล้าเข้าไป แม้แต่คนในพื้นที่ก็ตาม

หลวงปู่บุญถือเป็นบททดสอบจิตและ อารมณ์พระกัมมัฏฐาน ได้ปักกลดกลางป่าลึก ทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิท่ามกลางสัตว์ร้ายมากมาย ทั้งเสือ หมี เดินรอบกลด แถมยังต้องผจญผีป่า ผีโป่ง สารพัดภูตพราย

หลังจากสามารถผ่านพ้นภัยจากป่าดงบังอี่ หลวงปู่บุญได้เข้าไปกราบนมัสการพระธาตุพนม หลังจากนั้นได้ธุดงค์เดินตามริมแม่น้ำโขงเรื่อยมา ก่อนมุ่งหน้าสู่ภูลังกา และก็ได้เดินกลับอุบลราชธานี

สำหรับลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2511 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลนาคำใหญ่ พ.ศ.2516 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2519 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบล ในราชทินนามที่พระครูขันตยาธิคุณ

คนหมู่บ้านนั้นมักจะเรียกหลวงปู่บุญ ว่า พระครูถ่าน หรือหลวงปู่อุปัชฌาย์ หรือ “พ่อถ่านอุปัชฌาย์” ด้วยความที่หลวงปู่เป็นพระเถระที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย อาพาธ ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงปู่บุญ เป็นที่พึ่งของชาวเมืองอุบลอย่างแท้จริง

ถือเป็นพระเถระที่อาวุโสมากรูปหนึ่งในเมืองอุบลราชธานี ชาวบ้านขนานว่าหลวงปู่ใจดีเหมือนแม่น้ำ หรือเทพเจ้าแห่งทุ่งแม่น้ำชี

ในปัจจุบันยังสวดพระปาติโมกข์ได้ รวมทั้งมีความชำนาญเรื่องอักษรธรรม มูลน้อย มูลกลาง

ด้านวัตถุมงคล พระครูขันตยาธิคุณ หรือหลวงปู่บุญได้รับความนิยมจากนักสะสมนิยมพระเครื่องอย่างมาก เหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี 2534 ปัจจุบันกลายเป็นเหรียญหายาก ส่วนวัตถุมงคลประเภทเครื่องรางของขลังที่โด่งดังอยู่ในขณะนี้คือ แผ่นยันต์ปทุมโลหิต ลงแผ่นหนังวัวลายเสือสมิง เหรียญโภคทรัพย์ และแมงมุมดักโชค ฯลฯ

โดยเฉพาะ “แผ่นยันต์ปทุมโลหิต” สร้างจากหนังวัวลายเสือ สร้างตามแบบโบราณตามตำนานมหาเทพผู้ใหญ่ของพราหมณ์ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระพรหมทรงหงส์ พระอิศวรทรงโคศุภราช เทพพาหนะถือเป็นเทพใหญ่มีอานุภาพมาก ต้องบวงสรวงไหว้ ให้ดี

มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค.2556 สิริอายุ 95 ปี พรรษา 75

ที่มา: www.khaosod.co.th