ส่วนของสมาชิก

พระพิจิตร กรุวัดนาคกลาง หนึ่งในสองพระพิจิตรยอดนิยม แต่ขึ้นที่กรุฝั่งธนบุรี

พระพิจิตร กรุวัดนาคกลาง หนึ่งในสองพระพิจิตรยอดนิยม แต่ขึ้นที่กรุฝั่งธนบุรี

หน้าหลัก » จุดบ่งชี้พระ » พระพิจิตร กรุวัดนาคกลาง หนึ่งในสองพระพิจิตรยอดนิยม แต่ขึ้นที่กรุฝั่งธนบุรี
Share : แบ่งปันไปยัง facebook

     "พระพิจิตร" ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพระเครื่องที่มีเอกลักษณ์สำคัญอยู่ที่พิมพ์ทรงที่มีขนาดเล็กมาก เรียกได้ว่าพระส่วนใหญ่ที่พบเห็น ถ้าบังเอิญทำหล่นอาจจะหาไม่พบก็ได้ แต่ด้านพุทธคุณล้ำเลิศเอามากๆ ทั้ง แคล้วคลาดและคงกระพันชาตรีฉมังนัก และในหลายกรุหลายพิมพ์ของ “พระพิจิตร” นั้น กรุที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดและหายากที่สุด มีอยู่ 2 กรุ คือ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิจิตร และ กรุวัดนาคกลาง จนมีคำกล่าวว่า ... ผู้สะสมพระเมืองพิจิตร แม้จะมีมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ทรง แต่ถ้าขาด "พระพิจิตร กรุวัดนาคกลาง" ล่ะก็ ถือว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ ...
     เป็นที่ทราบกันว่า พระพิจิตร กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมแสวงหาอย่างสูง และมากมายหลายพิมพ์ อาทิ พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า พระพิจิตรหน้าวัง พระพิจิตรพิมพ์นาคปรก พระพิจิตรผงดำ เป็นต้น โดยเฉพาะ "พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่า" จะเป็นที่นิยมสูงสุด
     แต่รู้หรือไม่ว่า “พระพิจิตร กรุวัดนาคกลาง” ไม่ได้อยู่ที่เมืองพิจิตรแต่อย่างใด

     อันว่า “วัดนาคกลาง” นั้น เป็นวัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี แถวถนนอรุณอัมรินทร์ หลังวัดอรุณ อันเป็นที่ตั้งของ ‘กองทัพเรือ’ ข้อมูลการค้นพบนั้น ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าเปิดกรุมาเมื่อไหร่ ตั้งแต่ พ.ศ.ใด รู้เพียงว่า ... เมื่อพระแตกกรุออกมาแรกๆ ก็เป็นที่ฮือฮากันใหญ่แล้ว ด้วยพุทธคุณที่ปรากฏ เพราะในสมัยก่อนคนโบราณมักมีการทดลองขั้นพื้นฐานสำหรับพระเครื่องแทบทุกชนิดถึงความเหนียวความขลัง อย่างกรณีนี้ ได้อาราธนาองค์พระใส่ในปากปลา แล้วใช้มีดฟัน ปรากฏว่าฟันเสียจนเกล็ดกระจุย แต่ไม่ระคายผิวปลาแม้แต่น้อย ทั้งยังเกิดประสบการณ์ต่างๆ มากมายเป็นที่กล่าวขาน จึงกลายเป็นที่นิยมเล่นหากันอย่างกว้างขวาง

     ลักษณะเป็นพระพิมพ์ขนาดเล็กจิ๋ว ความกว้างประมาณ 0.5 ซ.ม. และสูงประมาณ 0.6 ซ.ม. เนื้อชินเงินที่มีผิวละเอียด พิมพ์ทรงรูปห้าเหลี่ยมกลีบบัว ฐานเรียบ มีขอบซุ้มโดยรอบ ด้านบนแนวพระเศียรมีรอยหยักทั้งสองข้าง องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย (มีปางสมาธิบ้างแต่พบน้อยมาก) บนอาสนะฐานเขียงชั้นเดียว แลสง่างามผึ่งผาย พระเกศเป็นแบบทรงสูง พระพักตร์ไม่ปรากฏรายละเอียด พระอังสาด้านซ้ายขององค์พระปรากฏเส้นสังฆาฏิกว้างชัดเจน พาดยาวลงมาเกือบจรดพระหัตถ์ซ้าย พระกรรณด้านซ้ายขององค์พระยาวกว่าด้านขวา ด้านหลัง มีทั้งหลังตันและหลังลายผ้า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย
     แล้วทำไมจึงใช้ชื่อว่า ‘พระพิจิตร’ อาจเป็นเพราะมีขนาดเล็กมากคล้ายกัน ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะเรียกตามชื่อ “พระ” ที่พบเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ก็มีผู้เฒ่าผู้แก่พูดกันต่อๆ มาว่า ได้มีผู้นำพระมาจาก ‘เมืองพิจิตร’ แล้วมาบรรจุกรุไว้ เฉกเช่น ‘พระพิจิตรป้อม’ ที่วังบูรพา แต่ก็ไม่มีการบันทึกหรือหลักฐานปรากฏแน่ชัด
     องค์พระบ่งบอกความเก่าและมีอายุในลักษณะของ ‘สนิมขุม’ ที่กัดกร่อน และ ‘การระเบิดแตกปริ’ ของเนื้อองค์พระที่แตกจากภายในสู่ภายนอกอยู่โดยทั่วไป องค์ที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏผิวปรอทให้เห็นชัดเจน บางองค์ผิวดำจัดก็มี ลักษณะพิเศษขององค์พระคือ เมื่อดูแล้วเกิดความรู้สึกสบายตา แต่แฝงด้วยความเข้มขลังอยู่ในที
     พระพิจิตร วัดนาคกลาง ถือว่าหนึ่งในสองของสุดยอด “พระพิจิตร” ที่เรียกได้ว่ากินกันไม่ลง เป็นพระที่ค่อนข้างหายาก จำนวนน้อย ค่านิยมสูง แม้จะพบในกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี แต่ก็กลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง และมีค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันยิ่งหาของแท้ยากยิ่ง นอกจากนี้ ยังมี พระพิจิตร วัดนาคกลาง อีกพิมพ์หนึ่ง เรียกกันว่า “พระพิจิตร วัดนาคกลาง พิมพ์ใหญ่” ซึ่งรูปแบบและพุทธลักษณะพิมพ์ทรงนั้น เหมือนการขยายแบบมาจาก ‘พระพิจิตร วัดนาคกลาง’ มาทั้งหมด เพียงแต่เมื่อขนาดใหญ่ขึ้น จึงสามารถมองเห็นเอกลักษณ์แม่พิมพ์ต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น แต่จำนวนน้อยมากและหายากมากครับผม

 

โดย อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์